ที่มา: dodeden

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.มีนโยบายเร่ง พัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพอย่างเพียงพอและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย ลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลประเทศ

ทั้งนี้ กองสุขศึกษา กรม สบส. ได้ทำการประเมินระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และพฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior) ตามหลัก 3อ. 2ส. ของประชาชนกลุ่มวัยทำงาน ช่วงอายุ 15 – 59 ปี ในปี 2559   จำนวน 15,278 คน ที่อยู่ในหมู่บ้าน ในตำบลจัดการสุขภาพคลอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดที่ดำเนินงานเสริมสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตามหลัก 3 อ. 2ส. ซึ่งเป็นวิธีการสร้างสุขภาพดี ลดความเสี่ยงการเกิดโรควิถีชีวิต 5 โรค

ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือดสมอง  และโรคมะเร็ง  ประกอบด้วย การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การงดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา  ผลพบว่า วัยทำงานมีความรอบรู้ด้านสุขภาพตามหลัก3อ.2ส. ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่ดี ร้อยละ49

โดยเฉพาะประเด็นการสื่อสารสุขภาพ การเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจเลือกปฏิบัติที่ถูกต้อง พบว่าอยู่ในระดับดีมากเพียงร้อยละ5.5เท่านั้น    ส่วนพฤติกรรมตามหลัก3อ.2ส.ของวัยทำงานพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่ดีถึงร้อยละ56.7   โดยอยู่ในระดับดีมากหรือถูกต้องเพียงร้อยละ5.2   จากข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนวัยแรงงานส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเรื้อรังอย่างมาก

นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า จากผลการประเมินทั้ง76 จังหวัดซึ่งไม่รวมกทม.ยังพบว่า วัยทำงานที่อาศัยอยู่ใน 43 จังหวัดมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับไม่ดี  เพศหญิงมีความรอบรู้ด้านสุขภาพดีกว่าเพศชาย และกลุ่มอายุ36-59ปี ที่มีระดับการศึกษามัธยมศึกษา/อาชีวศึกษาและกลุ่มอาชีพที่ทำงานใช้แรงงาน  มีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพดีกว่ากลุ่มอื่น

ส่วนพฤติกรรมสุขภาพพบว่ามี50จังหวัดที่วัยทำงานมีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง  เพศหญิงมีพฤติกรรมสุขภาพดีกว่าเพศชาย และกลุ่มอายุ 36-59 ปี ที่มีระดับการศึกษามัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา และกลุ่มอาชีพทำงานใช้แรงงาน  มีระดับพฤติกรรมดีกว่ากลุ่มอื่น

สำหรับในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมสบส. จะมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายสังคม  ในการบูรณาการยุทธศาสตร์การดำเนินงานเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

โดยผ่านกลไกการขับเคลื่อนของอสม. และอสค. 500,000 คนในหมู่บ้าน   เพิ่มศักยภาพการสื่อสารด้านสุขภาพ ให้อสม.นักจัดการสุขภาพภาคประชาชนตำบลละ 10 คน เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  พัฒนาช่องทางให้ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพได้ง่าย ให้ชุมชนจัดรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีการสื่อสาร/ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนเกิดการเข้าถึงและเข้าใจ

รวมทั้งสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และตำบล มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องอย่างยั่งยืน  สามารถดูแลสุขภาพและพึ่งตนเองได้ ซึ่งจะลดปัญหาการเจ็บป่วย ลดผู้ป่วยรายใหม่ในโรงพยาบาล รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประเทศลงได้อย่างมหาศาล  

เรื่องน่าสนใจ