ที่มา: dodeden

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ข้อมูลจากสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานในปี 2558 มีมูลค่ากว่า 49,000 ล้านบาท

คาดการณ์ว่าในปี 2559 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 53,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตมีการแข่งขันการโฆษณาผลิตภัณฑ์โดยเน้นคุณประโยชน์การบำรุงสมอง บำรุงสุขภาพ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสุขภาพ

นายแพทย์ ประภาส กล่าวว่า กรม สบส. ได้สำรวจความคิดเห็นในเรื่องพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชาชนอายุ 15 ปี ขึ้นไป 4 ภาค รวมทั้งกทม.และปริมณฑล จำนวน 512 คนในเดือนตุลาคม 2559 พบว่ากลุ่มตัวอย่างยังมีความเข้าใจในเรื่องการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง

โดยร้อยละ 70 คิดเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต้องรับประทานเป็นประจำ  พบในกลุ่มอายุ 21-30 ปีมากที่สุดร้อยละ 74  รองลงมาคือกลุ่มอายุ 31-40 ปีร้อยละ 72  เมื่อแยกตามระดับการศึกษา พบว่ากลุ่มผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีความคิดเห็นเรื่องนี้สูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 77  แยกรายภาค สูงสุดในภาคใต้ ร้อยละ 88    รองลงมาคือ กทม./ปริมณฑล ร้อยละ 68  เมื่อแยกรายอาชีพพบในกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้านมากที่สุดร้อยละ 77 รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 74

“ ความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวนี้ สะท้อนถึงความเข้าใจ ความเชื่อที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชาชนได้  อาจจะลดการบริโภคอาหารมื้อหลักลง หรือรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายตามมาได้  เช่นอาจทำให้ขาดสารอาหาร

โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนซึ่งจะต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพื่อนำไปพัฒนาสมอง ร่างกายให้เจริญเติบโต  หากเป็นวัยทำงานก็อาจจะควบคุมน้ำหนักตัวผิดวิธี โดยพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแทนที่อาจนำอันตรายมาสู่ชีวิตได้  ดังนั้นในการสร้างสุขภาพดีประชาชนทุกคนควรต้องหันมาสนใจเรื่องการบริโภค และการใช้พฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง แทนการพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน”นายแพทย์ประภาส กล่าว

นายแพทย์ประภาสกล่าวต่ออีกว่า  กรม สบส.จะเร่งให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ให้เกิดปัญญาทางสุขภาพ สามารถดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการปรับพฤติกรรมตนเองใน 3 เรื่องหลัก

ได้แก่ 1. การรับประทานอาหารอย่างสมดุลให้ครบทั้ง 5 หมู่ รับประทานผักสด ผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัมขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนตามหลักของธงโภชนาการ หลีกเลี่ยงการกินอาหารหวาน เค็ม มัน และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ชะลอความแก่ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรค

2. ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน จะช่วยลดความเสี่ยงและการเสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง และช่วยผ่อนคลายความเครียด 3. นอนหลับอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ซ่อมแซมเซลล์หรืออวัยวะที่สึกหรอ และปรับสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย 

เรื่องน่าสนใจ