ที่มา: dodeden

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายแพทย์ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ นำสื่อมวลชนและคณะเจ้าหน้าที่กรม สบส. ชมการดำเนินงานของสหกรณ์ผักปลอดภัย ภูทับเบิก จำกัด ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ในโครงการกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน  ทำการเพาะปลูกผักปลอดสารพิษตามมาตรฐานจีเอพี (Good Agriculture Practices:GAP) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผักอินทรีย์ (Organic) เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

โดยในปี พ.ศ.2557 และ2558 จ.เพชรบูรณ์ มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากปี พ.ศ.2556 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่  ซึ่งมีสาเหตุจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีหรือสารพิษ และสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

นายแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า โครงการกรีนมาร์เก็ต  ถือเป็นโครงการแบบอย่างที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพประชาชน ปลอดภัยทั้งเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค ซึ่งศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2560 เป็นปีแห่งการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย  เพื่อสร้างสุขภาพดี โดยกรม สบส. ได้ขานรับนโยบายส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม.ทั่วประเทศ ที่มี 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคน

ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว  และเป็นแกนนำสุขภาพภาคประชาชนในชุมชน โดยให้ดำเนินการ 3 ส่วน ประการแรกคือเป็นแบบอย่างการทำเกษตรปลูกผักผลไม้ปลอดสารเคมีปนเปื้อนตามมาตรฐานจีเอพี  ซึ่งที่หมู่บ้านทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ มีจำนวน 43 คน 

ประการที่ 2 ส่งเสริมให้ อสม.ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหารในหมู่บ้านร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  เพื่อสร้างความปลอดภัยประชาชน โดยเฉพาะในตลาดนัดและรถเร่ขายผัก

และ 3. ให้ อสม.เป็นแบบอย่างผู้ที่มีพฤติกรรมสุขภาพดีในหมู่บ้านโดยเฉพาะการบริโภคผักผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมต่อคนต่อวันตามเกณฑ์มาตรฐานสากล  เนื่องจากในผักผลไม้จะมีสารอาหาร  มีเส้นใยอาหารช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น มีสารพฤกษเคมี  ( Phytochemical หรือ Phytonutrients ) ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพ และคุณสมบัติป้องกันโรค และความเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายทำให้ผิวพรรณดี ผลการวิจัยพบว่าช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารลงได้ ร้อยละ 50 ลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงร้อยละ 30

ทั้งนี้ รายงานผลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยล่าสุดครั้งที่ 5 ในปี 2557 โดยการตรวจร่างกาย ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป รับประทานผักผลไม้ได้เพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐานสากลคือ 400 กรัมต่อคนต่อวัน หรือเท่ากับ  5

ส่วนมาตรฐานต่อวัน เพียงร้อยละ 25.9  ซึ่งดีขึ้นกว่าช่วงการสำรวจครั้งที่ 4 ในปี 2552 ที่มีเพียงร้อยละ 16.9  โดยภาคกลางกินเพียงพอมากที่สุด ร้อยละ 32 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 29 ภาคใต้ร้อยละ 28  กรุงเทพฯร้อยละ 22 และภาคเหนือร้อยละ 13 จึงเชื่อว่าหากมีปริมาณผักไม้ปลอดภัยมากขึ้น  และการรณรงค์ในระดับหมู่บ้านโดยอสม. สร้างค่านิยมกินผักผลไม้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนหันมาบริโภคกันมากขึ้น

สำหรับ ที่ ต.ภูทับเบิก มีเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์และเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผักปลอดภัยฯ จำนวน 68 ครอบครัว มีผักกว่า 20 ชนิด เช่น กะหล่ำปลี ต้นหอมญี่ปุ่น ดอกหอม ผักสลัด ถั่วลันเตา และมะเขือเทศ เป็นต้น

ก่อนส่งไปยังตลาดจะมีการตรวจสอบสารหายาฆ่าแมลงปนเปื้อนโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลภูทับเบิกทุกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าจะได้รับผักที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน 100 เปอร์เซ็นต์ และมียอดผลิตผักสัปดาห์ละ 5 ตัน รายได้ประมาณ 2 แสนบาทต่อสัปดาห์ และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านต่อครอบครัวเดือนละประมาณ 13,000 บาท 

เรื่องน่าสนใจ