ที่มา: dodeden

จากกรณี การเกิดแรงสั่นสะเทือน ในพื้นที่หมู่ 13 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ส่งผลให้ประชาชนกว่า 200 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบบ้านเรือนเสียหายเกิดรอยร้าวตามขอบเสา และฝาผนังเป็นทางยาวหลายหลัง

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณี การเกิดแรงสั่นสะเทือนจนบ้านเรือนกว่า 200 หลังคาเรือนได้รับความเสียหายนั้น จากการตรวจสอบขณะนี้ยังไม่พบสถานพยาบาลใดในพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่กรม สบส. ได้สั่งการทีมวิศวกรฉุกเฉิน หรือเอ็มเสิร์ท (Medical Service Emergency Response Team ;MSERT)

ประกอบด้วยทีมวิศวกรโยธา จากกองแบบแผน และทีมวิศวกรโยธาจากสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าประเมินความเสี่ยง และฟื้นฟูอาคารสถานพยาบาลให้สามารถกลับมาให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุที่ส่งผลกระทบต่ออาคาร ทั้งแผ่นดินไหว อุทกภัย หรือวาตภัย ฯลฯ

นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในเขตรอยต่อของเปลือกโลก แต่ก็มีพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อน หรือเป็นดินอ่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ถึง 22 จังหวัด ดังนั้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจแก่บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนผู้รับบริการ ได้มอบหมายให้กองแบบแผน กรม สบส. จัดเตรียมทีมวิศวกรโยธา เข้าตรวจสอบสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหว

ทั้งนี้ ทีมวิศวกรโยธาจะเน้นสำรวจโครงสร้างอาคารสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2540 ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอาคารที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาทิ อาคารผู้ป่วยนอก, หอผู้ป่วย ที่มีจำนวนชั้นมากกว่า 2 ชั้นขึ้นไป  หากพบว่าอาคารใดมีความเสี่ยงก็จะดำเนินการออกแบบปรับปรุงให้มั่นคงและก่อสร้างให้ได้ตามมาตรฐาน มีความแข็งแรงสามารถต้านทานการสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวต่อไป ส่วนอาคารที่ก่อสร้างหลังปี พ.ศ. 2540 ได้ออกแบบให้เป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ขอให้บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าอาคารสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง มีมาตรฐานโครงสร้างอาคารมั่นคงที่จะรองรับเหตุแผ่นดินไหวได้

เรื่องน่าสนใจ