กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ผ่านการรับรองห้องปฏิบัติการสอบเทียบ มอก. 17025 (ISO/IEC 17025 : 2017) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในด้านอุณหภูมิแบบสัมผัส ด้านอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส ด้านมวล และด้านอัตราการไหลของของเหลว

 

กรม สบส

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบการรับรองและดำเนินการสอบเทียบมาตรฐานของครุภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่หน่วยงานบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ มีห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวิเคราะห์การทำงานของเครื่องมือแพทย์และเครื่องมือแพทย์ ตั้งอยู่ที่กองวิศวกรรมการแพทย์ โดยให้บริการหน่วยงานโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขในการสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลให้มีความเที่ยงตรง แม่นยำ ใช้งานได้ โดยล้วนมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ป่วยทั้งสิ้น ดังนั้น ห้องปฏิบัติการสอบเทียบดังกล่าว จะต้องได้รับการรับรองและผ่านประเมินมาตรฐานเชื่อถือได้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงขอรับการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการสอบเทียบ จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยในวันที่ 16 กันยายน 2563 ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้รับใบรับรองห้องปฏิบัติการสอบเทียบของกองวิศวกรรมการแพทย์จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 17025 (ISO/IEC 17025 : 2017) โดยผ่านมาตรฐาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอุณหภูมิแบบสัมผัส ด้านอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส ด้านมวล และด้านอัตราการไหลของของเหลว ซึ่งการผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีที่ปรึกษา มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์พร้อมใช้ พร้อมให้บริการโรงพยาบาลหน่วยงานด้านสาธารณสุข ในการทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และระดับสากล

 

 

 

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ได้ผ่านการประเมินห้องปฏิบัติการสอบเทียบ 4 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้งานในโรงพยาบาล ดังนี้ 1) ด้านอุณหภูมิแบบสัมผัส เช่น ปรอทวัดไข้ ปรอทวัดอุณหภูมิแบบอมใต้ลิ้นหรือไว้ใต้รักแร้ 2) ด้านอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหูและหน้าผาก ที่เป็นที่นิยมในการตรวจวัดสแกนก่อนเข้าสถานประกอบการในช่วงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 3) ด้านมวล เช่น การใช้ตุ้มน้ำหนักในการตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนักเพื่อวัดน้ำหนักของยา น้ำหนักของคนไข้ และ 4) ด้านอัตราการไหลของของเหลว เช่น เครื่องให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น นับได้ว่าห้องปฏิบัติการสอบเทียบของกองวิศวกรรมการแพทย์สามารถช่วยประเมินได้ว่าเครื่องมือแพทย์มีความเที่ยงตรง แม่นยำ มากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไข ส่งซ่อม รักษาให้ได้รับความเที่ยงตรง แม่นยำต่อไป

สำหรับโรงพยาบาลที่สนใจต้องการทดสอบหรือสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ สามารถ ติดต่อได้ที่กลุ่มมาตรฐานด้านวิศวกรรมการแพทย์และสาธารณสุข 2 กองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลขโทรศัพท์ 021495691 หรือสายด่วนกรม สบส. 1426 ในวันและเวลาราชการ

 

 

 

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น
ศัลยกรรม
webdodeden

 

เรื่องน่าสนใจ