ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า  นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.ได้สร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ ลดปัญหาการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต

โดยเฉพาะจากโรคเอดส์ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อเอช ไอ วี ในกลุ่มชายรักชาย มีอัตราการติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มรักต่างเพศ

และสาเหตุรองลงมาได้แก่ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด และการติดต่อจากแม่สู่ลูกตามลำดับ ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจและการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เนื่องจากสังคมยังไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อเท่าที่ควร

ปัจจุบันพบว่า ในปี 2558 มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1 ล้าน 5 แสนราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 6,759 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยแรงงาน ช่วงอายุ 15 – 45 ปี พบมากในกลุ่มชายรักชาย และกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า กรม สบส.ได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งในภาคประชาชนโดยการส่งเสริม สนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในปี 2560 นี้ มีอสม.ที่ได้รับเลือกและได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในชุมชนได้แก่ นายชุติมันต์ โพธิยา อายุ 51 ปี ทำหน้าที่ อสม.มา 8 ปี รับผิดชอบและดูแลชุมชนวัดพรหมสาคร เขตเทศบาลเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยพบว่า ในชุมชนมีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ถูกตีตรา การขับไล่ออกจากครอบครัวและชุมชน รวมถึงมีการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น จึงหันมาดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์อย่างทุ่มเทและอย่างจริงจัง

การดำเนินงานของอสม.ชุติมันต์ โดยใช้ศักยภาพการเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เข้าถึงและค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มชายรักชาย กลุ่มหญิงบริการและกลุ่มวัยรุ่น และเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชนได้ดี มีการสื่อสารให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค

โดยถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคอนามัยเจริญพันธุ์ การใช้ถุงยางอนามัย ข้อปฏิบัติในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์

รวมถึงยาเสพติดสู่นักเรียน เยาวชนในสถานศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส สถานพินิจและเรือนจำในจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งดำเนินงานแบบการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ได้แก่โรงพยาบาลสิงห์บุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลและประธานชุมชน ร่วมเป็นจิตอาสาให้ความรู้และเป็นจุดกระจายถุงยางอนามัยในชุมชนซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2539

ในกลุ่มผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ ในเขตอำเภอเมืองสิงห์บุรี มีจำนวน 642 คน ได้ดำเนินการตามแนวทาง คือเน้นให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ยาต้านไวรัส และโรคฉวยโอกาส ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อาทิ วัณโรค โรคปอดติดเชื้อ เชื้อราในสมอง เป็นต้น ซึ่งผลจากการติดตามเยี่ยมบ้าน พบว่า นักเรียนและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ถุงยางอนามัย และจากการการประเมินความเสี่ยงในกลุ่มเสี่ยงผ่านกิจกรรมลูกปัดวัดความเสี่ยงและกล่องพลิกชีวิต มีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมและตระหนักถึงการป้องกันมากขึ้น

ในส่วนของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเกิดการยอมรับในชุมชน มีการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการสร้างความเข้าใจถึงโรคดังกล่าวว่าไม่สามารถติดต่อด้วยการสัมผัสหรือการคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

เรื่องน่าสนใจ