ที่มา: กรมอนามัย

กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพวัยทำงาน เหตุใช้ชีวิตในอาคารที่มีระบบคุณภาพอากาศไม่ดี เสี่ยงการสูดดม ฝุ่นละออง ผงหมึก และสารอินทรีย์ระเหย หวั่นเสี่ยงเกิดโรคอาคารป่วย (Sick building Syndrome) แนะคุมเข้มผู้สัมผัสกับเครื่องถ่ายเอกสารตลอดเวลา ย้ำต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งป้องกันตนเอง

Image of businesswoman sneezing while her partner looking at her unsurely in office

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ภายในอาคาร บ้าน สำนักงาน และโรงแรม ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาคุณภาพในอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง จากเครื่องปรับอากาศที่ขาดการดูแล สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เช่น ไซลีน โทลูอีน เบนซีน เป็นต้น

ผงหมึกจากเครื่องถ่ายเอกสาร สีทาอาคารและวัสดุ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คุณภาพอากาศไม่ดี โดยเฉพาะหากไม่มีระบบถ่ายเทอากาศ ที่ดีพอ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพวัยทำงานตามมา นอกจากจะเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ

ซึ่งข้อมูลสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2555 พบคนไทยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจมีอัตราป่วย 473.34 ต่อประชาชน 1,000 คน แล้ว ยังทำให้เสี่ยงโรคอาคารป่วย (Sick building Syndrome) ที่มีการสูดดมฝุ่นละออง สารระเหย และผงหมีก เป็นต้น

Photocopier

โดยอาการของโรคแบ่งได้ 5 กลุ่ม คือ
1) อาการระคายเคืองตา มีอาการตาแห้ง น้ำตาไหล ตาแดง ระคายเคืองตา จะเป็นมากในรายที่ใส่คอนแทคเลนส์
2) อาการคัดจมูก ระคายเคืองคอจาม ไอ
3) อาการทางลำคอ คอแห้ง ระคายคอ หายใจลำบาก
4) อาการผิวหนังแห้ง คัน เป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ
5) อาการปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก เหนื่อยล้า มึนงง ขาดสมาธิในการทำงาน
โดยอาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายได้เอง เมื่อออกจากอาคาร ไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงคือวัยทำงาน โดยเฉพาะ ผู้ที่ต้องทำงานถ่ายเอกสาร เนื่องจากเครื่องถ่ายเอกสารมีกลิ่นสารเคมี มีผงหมึกที่เป็นฝุ่นผงเสี่ยงต่อการสูดดมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจมีอาการไอ จาม

ซึ่งผงหมึกนี้มีทั้งแบบผงคาร์บอนดำ 100 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับพลาสติกเรซิน ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง และผงหมึกละลายในสารอินทรีย์ประเภทปิโตรเลียม ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายจึงต้องระมัดระวังขณะเติมหมึก รวมทั้งขณะทำความสะอาดหรือกำจัดฝุ่นผงหมึกที่ใช้แล้ว และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผงหมึกหรือสูดดมเอาผงหมึกเข้าสู่ร่างกาย หากพบผงหมึกเปื้อนติดกระดาษจำนวนมาก ควรหยุดการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร แล้วติดต่อบริษัทเพื่อซ่อมบำรุงต่อไป

ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ใช้เครื่องถ่ายเอกสารต้องรู้จักวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัย เมื่อถ่ายเอกสารทุกครั้งควรปิดฝาครอบให้สนิท พร้อมทั้งติดตั้งพัดลมดูดอากาศเฉพาะที่ในห้องถ่ายเอกสาร สวมถุงมือขณะเติมหรือเคลื่อนย้ายผงหมึก ควรใส่หน้ากากกันฝุ่นเคมี หรือหน้ากากอนามัย โดยผงหมึกที่ใช้แล้วหรือผงหมึกที่หกตามพื้นในขณะที่เติมต้องนำไปกำจัดลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด

อีกทั้งควรบำรุงรักษาเครื่องเป็นประจำ และให้ตั้งเครื่องถ่ายเอกสารแยกไว้ที่มุมห้องที่ไกลจากคนทำงาน และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเอกสาร ควรได้รับการแนะนำอบรมวิธีการใช้ การเปลี่ยนผงหมึกรวมทั้งการกำจัดผงหมึก ตลอดจนผู้ซ่อมบำรุงเครื่องถ่ายเอกสารควรสวมถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับลูกกลิ้งด้วย

เรื่องน่าสนใจ