การบาดเจ็บของข้อเข่า เป็นอาการที่อาจสร้างความลำบากใจให้กับใครหลายคนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอวัยวะที่สามารถรับการกระแทกได้บ่อย เราลองมาดูกันดีกว่าว่าอาการเจ็บข้อเข่าที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อเกิดเเล้วจะเป็นอย่างไร ต้องดูแลตัวเองอย่างไรค่ะ

 

การบาดเจ็บของข้อเข่า
ภาพจาก creakyjoints.org

 

การบาดเจ็บของข้อเข่า ภาวะอันตรายต่อหมอนรองกระดูกข้อเข่าที่ต้องระวัง

หมอนรองกระดูกข้อเข่า..อยู่ตรงไหน
ข้อเข่าประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่กระดูกต้นขาส่วนปลาย กระดูกแข้งส่วนต้น และกระดูกสะบ้า หมอนรองข้อเข่าเป็นเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน (Fibrocartilage) อยู่ระหว่างกระดูกอ่อนผิวข้อของกระดูกต้นขาส่วนปลายและกระดูกแข้งส่วนต้น ซึ่งหมอนรองข้อเข่านั้นมีลักษณะเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว มีอยู่ 2 อัน คืออันในและอันนอก มีหน้าที่ในการกระจายแรงกดและแรงกระแทกระหว่างกระดูกข้อต่อทั้งสองฝั่ง ถ้าเปรียบเป็นอะไหล่รถยนต์ ก็อาจเทียบได้กับโช็คอัพนั่นเอง

 

การบาดเจ็บของข้อเข่า
ภาพจาก springloadedtechnology.com

 

ครั้งหนึ่งเคยถูกตัดทิ้งเพราะคิดว่าเป็นส่วนเกิน
ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน หมอนรองกระดูกที่มีการฉีกขาดจะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาออกทั้งอัน เพราะคิดว่าเป็นส่วนเกินของร่างกาย ถ้าเปรียบไปก็คงเหมือนกับไส้ติ่งที่เก็บไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อไส้ติ่งอักเสบก็จะได้รับการผ่าตัดเพื่อตัดทิ้งเสียก่อนที่จะแตก หมอนรองข้อเข่าก็เช่นเดียวกัน ในยุคนั้นเมื่อศัลยแพทย์ต้องทําการผ่าตัดก็จะตัดออกทั้งหมด เพราะกลัวว่าส่วนที่เหลือไว้อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ เรื่องราวของหมอนรองข้อเข่าก็เหมือนกับหลายๆ อย่างที่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ล่ะค่ะ หลังจากตัดหมอนรองข้อเข่ากันไปมากมาย พอผ่านไปนับสิบปีก็มีคนไข้จํานวนหนึ่งที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร และมีภาพเอกซเรย์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน จึงเป็นประเด็นให้ทําการศึกษาวิจัยกันมากขึ้น และได้ข้อสรุปว่า “หมอนรองข้อเข่าไม่ใช่ส่วนเกินของร่างกาย” การที่ตัดหมอนรองข้อเข่าออกไปทั้งหมดนั้นจะทําให้แรงกดที่กระดูกอ่อนผิวข้อสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น

 

การบาดเจ็บของข้อเข่า
ภาพจาก orthop.washington.edu

 

เเล้วมันฉีกขาดได้อย่างไร?
หมอนรองข้อเข่าอาจเกิดการฉีกขาดจากอุบัติเหตุที่ทําให้ข้อเข่ามีการบิดหมุน (Twisting Injury) หมอนรองข้อเข่าที่อยู่ระหว่างกระดูกสองชิ้นถูกบด จะเกิดการฉีกขาดขึ้น ซึ่งการเกิดการบาดเจ็บอาจเป็นเฉพาะส่วนหมอนรองข้อเข่าเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ที่พบบ่อยกว่าคือการบาดเจ็บของหมอนรองข้อเข่าร่วมกับการฉีกขาดของเอ็นเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอ็นไขว้หน้าซึ่งอยู่บริเวณกลางข้อเข่า และเกิดการบาดเจ็บฉีกขาดได้บ่อย นอกจากนี้ยังมีกรณีการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่าอันเนื่องมาจากการเสื่อมของเนื้อเยื่อของหมอนรองข้อเข่าจากการใช้งานซึ่งมักจะพบได้ตั้งแต่วัยกลางคนเป็นต้นไป

 

ภาพจาก medicalnewstoday.com

 

ลักษณะอาการ
ในรายที่มีสาเหตุจากอุบัติเหตุก็อาจมีอาการปวดหรือรู้สึกขัดภายในข้อเข่า แต่มีผู้ป่วยจํานวนไม่น้อยที่ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ เล่นกีฬาได้ ทั้งๆ ที่หมอนรองข้อเข่าฉีกขาด อาการข้อเข่าบวมเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีเลือดออกภายในข้อ หรือมีน้ำไขข้อมากกว่าปกติ อันเนื่องมาจากกระบวนการอักเสบภายหลังการบาดเจ็บ ในกรณีหมอนรองข้อเข่าฉีกอาจมีอาการเข่าบวมได้ทั้งช่วงแรกของการบาดเจ็บ หรือมีอาการบวมภายหลังจากการใช้งานของข้อเข่าหลังการบาดเจ็บเป็นแรมเดือนแรมปีแล้วก็ได้ เนื่องมาจากชิ้นส่วนของหมอนรองข้อเข่าที่มีการฉีกขาดก่อให้เกิดกระบวนการอักเสบของข้อภายหลังการใช้งาน ทําให้มีปัญหาการปวดบวมข้อเข่าแบบเป็นๆ หายๆ หลังการใช้งาน เช่น ภาวะปกติก็สามารถใช้งานในชีวิตประจําวันได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่พอไปวิ่งหรือเตะบอลนิดหน่อย ก็จะเกิดอาการบวมของข้อเข่า

เนื่องจากการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่ามีหลายรูปแบบ ในบางลักษณะจะทําให้ชิ้นส่วนของหมอนรองข้อเข่าที่มีการฉีกขาดปลิ้นเข้าไปขัดภายในข้อต่อ ทําให้เกิดการกีดขวางการเคลื่อนไหว จนผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดเข่าได้สุดเท่ากับข้อเข่าด้านตรงข้ามได้ สังเกตว่าเมื่อวางขาตรงๆ บนเตียงแล้วข้อพับเข่าจะยกลอยจากเตียง ไม่สามารถวางแนบเตียงได้ตามปกติ ซึ่งอาการที่เหยียดเข่าไม่สุดนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเร็วขึ้น เพื่อเอาสิ่งที่กีดขวางการเคลื่อนไหวข้อออกไป ทําให้ข้องอเหยียดได้เต็มที่

 

ภาพจาก orthoinfo.aaos.org

 

หากยังรู้สึกปวด..อาจต้องผ่าตัด
การผ่าตัดเพื่อรักษาการฉีกขาดของหมอนรองข้อเข่า มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่ยังมีอาการปวดหรือข้อบวมรบกวนภายหลังจากได้รักษาตามอาการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทั่วไปอาจติดตามอาการประมาณ 2-3 เดือน ภายหลังการบาดเจ็บเพื่อให้โอกาสร่างกายในการสมานตัว แต่มีบางกรณีที่ทําการผ่าตัดเร็วกว่านี้ เช่น มีลักษณะการฉีกขาดที่ทําให้เกิดชิ้นส่วนของหมอนรองข้อเข่าเข้าไปขัดจนรบกวนการเคลื่อนไหวของข้ออย่างชัดเจน หรือมีการบาดเจ็บร่วมกับส่วนอื่นที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดอยู่แล้ว การผ่าตัดหมอนรองข้อเข่าจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประเมินรอยฉีกขาดและให้การรักษาตามความเหมาะสมของแต่ละรูปแบบการบาดเจ็บ ทั้งการเย็บซ่อมแซมหรือทําการตัดแต่งเนื้อเยื่อที่เป็นรอยฉีกซึ่งมีลักษณะไม่มั่นคง

…………………………………………………………………..

แต่ทั้งนี้การตัดแต่งก็จะเอาเฉพาะส่วนที่มีปัญหาออกไปเท่านั้น โดยแพทย์จะพยายามเก็บหมอนรองข้อเข่าส่วนที่เป็นเนื้อดีเอาไว้ ผู้ป่วยจะได้รับคําแนะนําในการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด ทั้งการบริหารและการออกกําลังกายตามลักษณะของการบาดเจ็บและหัตถการที่ได้ทําไปค่ะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ