ที่มา: iurban.in.th

เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com

ไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่บริเวณคอใต้ลูกกระเดือก ปกติจะคลําไม่พบ โดยทําหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก ต่างจากต่อมทอนซิลซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งอยู่บริเวณคอเช่นกัน หลายคนจึงอาจสับสนและเข้าใจผิดว่าไทรอยด์กับทอนซิลเป็นต่อมไร้ท่อชนิดเดียวกัน

ผู้ป่วยโรคไทรอยด์มากกว่าครึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ซึ่งกรณีนี้ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความเจ็บป่วยรุนแรงไม่เท่ากัน บางรายจึงสามารถรักษา ให้หายขาดได้ แต่บางรายอาจทําได้เพียงควบคุมให้ภาวะของโรคเบาลง ทําให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป เนื่องจากความเครียด มีส่วนไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันนั่นเองค่ะ นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เกิดโรคไทรอยด์ได้ก็คือ เกิดจากพันธุกรรมและไวรัส ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมดูแลได้

โรคไทรอยด์มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน สําหรับชนิดที่ทําให้ร่างกายของคุณอ้วนขึ้น นั่นก็คือ โรคไทรอยด์ชนิดอ้วน หรือภาวะพร่องไทรอยด์ (Hypothyroid) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อย ทําให้ร่างกายเกิดอาการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ จึงมีการเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติ อาการของโรคไทรอยด์ชนิดอ้วน นอกจากจะน้ำหนักขึ้น อ้วนแบบบวมฉุแล้ว ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เฉื่อยชา เบื่อ ขี้เกียจ ไม่อยากทําอะไร ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว ผมร่วง เหนื่อยง่าย ทําอะไรไม่ค่อยไหว ท้องผูก บางรายประจําเดือนมากกว่าปกติ เป็นต้น

ซึ่งอาการของภาวะพร่องไทรอยด์จะแตกต่างจากการที่ร่างกายอ้วนขึ้นจากอาการบวมน้ำ โดยอาการบวมน้ำเกิดจากการที่ร่างกายได้เก็บสะสมน้ำไว้ตามอวัยวะต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นแขน ต้นขา ใบหน้า ไม่ยอมถูกขับออกจากร่างกาย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น มาจากหลายปัจจัย เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย กินอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมมาก หรืออาหารสําเร็จรูปต่างๆ เป็นต้น

แม้ไทรอยด์จะเป็นต่อมที่คลําไม่พบและไม่สามารถมองเห็นได้ แต่การเฝ้าระวังโรคไทรอยด์ไม่ยากอย่างที่คิด สามารถเริ่มต้นตรวจเช็คความเสี่ยงได้ด้วยตัวเองเพียงสังเกตว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่ เมื่อมีอาการที่คาดว่าจะเป็นโรคไทรอยด์ ควรพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดดูการทํางานของต่อมไทรอยด์ ตั้งเเต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรง จนยากแก่การรักษา

เรื่องน่าสนใจ