ที่มา: doctor

เรียบเรียงข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม

ภาพ scentedoilgoldencrane 

เว็บไซต์โดดเด่นดอทคอม ( www.dodeden.com ) ระบุว่า โรคกรดไหลย้อน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด (ประกอบด้วย กรดเกลือ หรือกรดไฮโดรคลอลิก) ไหลย้อนขึ้นไประคายต่อหลอดอาหาร และบริเวณลำคอ

ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบลิ้นปี่ คล้ายเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ต้องคอยกินยาโรคกระเพาะบรรเทาอยู่เรื่อยๆ

630

โรคนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนอายุมากกว่า 40 ปี  ซึ่ง รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ก็มีโรคนี้ประจำตัวมาหลายปี มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาตัวเองจนรู้วิธีอยู่กับโรคนี้อย่างดี  จึงขอนำความรู้มาทบทวนอีกครั้ง

สำหรับ สาเหตุ เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร

ในคนปกติขณะกลืนอาหารหูรูดนี้จะคลายตัวเพื่อเปิดทางให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้วหูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรดเกลือ) ที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร

แต่ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน พบว่ากล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอด อาหารนี้หย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ (คนทั่วไปหลังกินข้าวอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนได้ 1-4 ครั้ง ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการ) ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และการอักเสบของเยื่อบุหลอด อาหารได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ (โรคนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี) หรือหูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ (พบในทารก) หรือมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด

พบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน ภาวะตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม  ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม

นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยกระตุ้น ให้โรคกำเริบ  ที่สำคัญ ได้แก่  การกินอิ่มมากไป (กินอาหารมื้อใหญ่หรือปริมาณมาก)กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก ประกอบกับการขยายตัวของกระเพาะอาหารทำให้หูรูดคลายตัวมากขึ้น

การนอนราบ (โดยเฉพาะภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินอาหาร) การนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

การรัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว จะเพิ่ม แรงดันในกระเพาะอาหารทำให้น้ำย่อยไหลย้อน

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน (เช่น กาแฟ ยาชูกำลัง) นอกจากกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้ว ยังเสริมให้หูรูดคลายตัวอีกด้วย

การกินอาหารที่ไขมันสูง ข้าวผัด ของทอดและอาหารผัดน้ำมัน ทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น

การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต (น้ำอัดลม) การกินอาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต หรือสะระแหน่

การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น) จะเสริมให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น

โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อน

แผลเพ็ปติก และการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนลงสู่ลำไส้ช้าลง ทำให้มีกรดไหลย้อนได้

สำหรับ อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอก หลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ รัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว มักมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์และอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ละครั้งมักปวดอยู่นาน 2 ชั่วโมง

บางรายอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย (คล้ายอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) หรือมีอาการจุกแน่นยอดอก (คล้ายอาหารไม่ย่อย) หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ เรอบ่อย หรือมีก้อนจุกที่คอหอย

ขณะที่ บางรายอาจมีอาการขย้อนหรือเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยว (เรอเปรี้ยว) ขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดีหรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น

ส่วน บางรายอาจไม่มีอาการแสบท้องหรือ   เรอเปรี้ยว แต่มีอาการไอแห้งๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหาร หรืออยู่ในท่านอนราบ) กลืนลำบาก หรือเจ็บหน้าอกเวลากลืน

บางรายตอนตื่นนอนอาจรู้สึกขมคอ เปรี้ยวปาก อาจมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอ (เนื่องจากกลางคืนนอนหมอนใบเดียว มีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม)

ซึ่งจะเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือน ผู้ป่วยมักจะไปปรึกษาแพทย์ทางโรคหู-คอ-จมูก ซึ่งจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน

สิ่งที่สำคัญคือ การดูแลตนเอง ผู้ที่มีอาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก หรือเรอเปรี้ยว อาจรักษาเบื้องต้นโดยกินยาต้านกรดชนิดน้ำ  ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง และสังเกตว่ามีเหตุกำเริบจากอาหารหรือพฤติกรรมใด ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย

ส่วนการป้องกันนั้น ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จำเป็นต้องคอยป้องกันไม่ให้โรคกำเริบด้วยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

เรื่องน่าสนใจ