กิน ‘น้ำมัน’ ให้ปลอดภัยเริ่มตั้งแต่การเลือก

Pouring oil on spoon isolated on white

การเลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันที่ดีหรือไม่ดี มีผลต่อร่างกายในระยะยาว ทำให้ร่างกายมีโรคหรือปราศจากโรคได้ ไม่อยากบริโภคให้เป็นปัญหา ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อน้ำมันที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

วิธีเลือกซื้อน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร
• โดยทั่วไปการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอาหารทุกชนิด รวมถึงน้ำมัน ควรเลือกที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท บริเวณฝามีพลาสติกปิดผนึกไว้อย่างดี ทั้งยังควรสังเกตเครื่องหมาย อย. รวมถึงวันเดือนปีที่ผลิต ดูปริมาณพลังงานที่ผู้บริโภคจะได้รับ ส่วนผสม เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียมหรือเกลือ เป็นต้น เพื่อให้รู้ว่าการบริโภคน้ำมันหรืออาหารนั้นๆ ร่างกายรับอะไรไปบ้าง

• หลีกเลี่ยง น้ำมันบรรจุถุงแบบชั่งกิโลขาย หรือที่บรรจุขวดแต่ไม่มีฉลาก เพราะเราไม่รู้ว่าในถุงหรือนขวดนั้น คือน้ำมันอะไร น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมู โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญที่ใช้เป็นวัตถุดิบอะไร ผลิตมานานแค่ไหนแล้ว

• การเลือกซื้อน้ำมันไม่สามารถนำเรื่องสีมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจได้ว่าน้ำมันสีเข้มหรือสีอ่อนดีหรือไม่ เพราะวัตถุดิบบางชนิดทำให้น้ำมันออกมามีสีเข้ม อย่างเช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

• การเลือกน้ำมันมีความจำเป็นไม่แพ้เครื่องปรุง เพราะน้ำมันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติการใช้งานที่ต่างกัน เช่น เมนูทอดต้องเลือกน้ำมันที่ทนความร้อนได้ดี ไม่เสื่อมสภาพง่ายอย่างน้ำมันปาล์มโอเลอิน และควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ

น้ำมันที่ไม่ควรนำมาทอดอาหาร
ชนิดน้ำมันที่ไม่เหมาะกับการนำมาทำเมนูทอด ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันมะพร้าว เพราะทนความร้อนได้ไม่ดี เสื่อมสภาพเร็ว ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ถ้ากินต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด แต่สามารถนำไปประกอบอาหารอย่างอื่นได้ ทั้งทำน้ำสลัดหรือเมนูผัด

ข้อความปฏิบัติในการใช้น้ำมัน
• ให้มองน้ำมันเป็นเพียงตัวนำความร้อนที่ช่วยให้อาหารสุก ใช้แล้วต้องทิ้ง
• อย่ามองว่าเป็นอาหาร เพราะการมองว่าน้ำมันเป็น อาหารจะทำให้เกิดความเสียดาย ใช้แล้วเก็บไว้นำมาใช้ใหม่ ซึ่งยิ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอนุมูลอิสระจนเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว
• ไม่ควรทิ้งน้ำมันลงท่อระบายน้ำ เพราะจะยิ่งสะสมและทำให้ท่ออุดตันในระยะยาว
• ไม่ว่าจะน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ ก็ให้พลังงานต่อหน่วยน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 กรัมจะให้พลังงานเท่ากับ 9 แคลอรี ดังนั้น ความเชื่อที่ว่ากินน้ำมันพืชแล้วไม่อ้วน จึงไม่เป็นความจริง
• น้ำมันปาล์มโอเลอิน เป็นน้ำมันซึ่งสกัดมาจากเปลือกของเมล็ดปาล์ม ผ่านกระบวนการแยกเอากรดไขมันอิ่มตัวออกบางส่วน น้ำมันที่ ได้จึงมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (ตำแหน่งเดียว) ที่มีประโยชน์สูง เรียกว่า กรดโอเลอิก ทั้งยังมีกรดไขมันจำเป็น “ไลโนเลอิก” อยู่พอประมาณ และมีวิตามินอี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็กในวัยเจริญเติบโต
• ควรเลือกซื้อน้ำมันพืชสลับยี่ห้อ สลับชนิดกันบ้าง ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำเพียงอย่างเดียว
• สำหรับน้ำมันหีบเย็น เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา สำหรับคนที่ชอบกินสด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวต่อว่า ไม่จำเป็นเสมอไปสำหรับทุกคน ควรปรึกษานักโภชนาการ เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันมากเกินความจำเป็นและเกิดโรคได้

ความต้องการไขมันของร่างกาย
ปกติร่างกายคนเราควรได้รับน้ำมันประมาณ 65 กรัมหรือประมาณ 4 ช้อนโต๊ะต่อวัน บางทีเราเองก็ไม่รู้ตัวว่ากินเข้าไปมากเท่าไหร่แล้ว เอาเป็นว่า ควบคุมปริมาณขนมกรุบกรอบ ขนมปังราดนมข้น ข้าวเกรียบ เค้ก คุกกี้ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากครีมเทียม เนย ฯลฯ ที่กินในแต่ละวันด้วยได้ยิ่งดี เพราะมีส่วนผสมของน้ำมันแทบทั้งสิ้น

Credit : todayhealth

เรื่องน่าสนใจ