ที่มา: Matichon Online

ปัจจุบันการใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตเพิ่มมากขึ้น บางคนใช้งานเกือบตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอน มิหนำซ้ำยังวางไว้ข้างตัวขณะนอนหลับ รู้หรือไม่ว่า การใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบประสาทและกระดูกต้นคอ เมื่อใช้ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน อาการผิดปกติที่พบได้บ่อยในกลุ่มคน “สังคมก้มหน้า” คือ อาการปวดศีรษะ 

phubbing

ร.ท.นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากความไวที่มากกว่าปกติของระบบประสาทเอง ซึ่งทำให้เกิดโรคปวดศีรษะไมเกรน หรือจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก ความดันในสมองผิดปกติ ยาหรือสารเคมีบางชนิด เป็นต้น

และการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ที่มากเกินไปหรือใช้งานอย่างไม่ถูกท่านั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน
การก้มหน้าเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเมื่อยล้า หรือเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อขึ้นมาเป็นก้อน อาการปวดที่กล้ามเนื้อคอนี้อาจส่งความปวดไปยังส่วนอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ท้ายทอย ขมับ รอบกระบอกตา หน้าผาก ฯลฯ ซึ่งพบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ หรือใช้สมาร์ทโฟนอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะรู้จักกันดีในชื่อ”กลุ่มอาการปวดจากกล้ามเนื้อเกร็ง” หรือ Myofascial pain syndrome (MFS)

นอกจากนี้ ยังทำให้กระดูกต้นคอรับน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 6 เท่า
เกิดภาวะกระดูกคอเสื่อมก่อนวัย หรืออาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทได้ กรณีนี้ถ้าไปกดทับเส้นประสาทสมองระดับที่ 1-4 ก็อาจเกิดอาการปวดศีรษะที่บริเวณท้ายทอย ด้านข้างศีรษะ ขมับ กระบอกตา หน้าผาก รวมถึงกลางกระหม่อมได้ ทางการแพทย์จะเรียกโรคนี้ว่า “โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของคอ” หรือ Cervicogenic headache

อีกทั้งแสงที่ออกมาจากหน้าจอหรือแสงสะท้อนจากหน้าจอ ยังกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันขึ้นในกลุ่มคนที่เป็นโรคไมเกรนอยู่แล้ว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งปวดบริเวณคอและศีรษะ ยังกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบรุนแรงเฉียบพลันได้อีกด้วย ดังนั้น จึงควรใช้งานสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ อย่างเหมาะสม

เรื่องน่าสนใจ