ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 5 กรกฎาคม 2560 ) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ศิลปะบำบัด  มาจากแนวคิดที่ศิลปะสามารถทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้และเข้าใจตนเองรวมทั้งมีการพัฒนาในมิติต่างๆ ได้ กระบวนการสร้างสรรค์ของงานศิลปะสามารถเยียวยาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

เป็นการสื่อสารความคิดความรู้สึกในรูปแบบที่ปราศจากคำพูด ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับชีวิตและความรู้สึกถึงสมดุลทางอารมณ์  ช่วยให้บุคคลในวัยต่างๆ สร้างจินตนาการและการผ่อนคลายทางอารมณ์

นอกจากนี้ ยังช่วยในการบำบัดรักษาด้านอารมณ์ ลดความคับข้องใจ และช่วยให้บุคคลเข้าใจตนเองมากขึ้น   ซึ่งการนำศาสตร์ทางศิลปะและวัสดุเข้ามาผสมผสานให้เกิดรูปแบบของกิจกรรมในทางทัศนศิลป์ เช่น การวาดภาพ  การระบายสี  การปั้น  สื่อผสม ยังเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำศิลปะมาใช้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ในแง่ของการส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก

การประสานงานระหว่างสายตาและมือ  ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้บกพร่องฯ สะท้อนความคิด ความรู้สึก เกิดจินตนาการ  มีความคิดสร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ ผ่อนคลายอารมณ์และจิตใจ แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม  ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจในศักยภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี

ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวต่อว่า ในวันนี้ สถาบันราชานุกูล โดยกลุ่มงานศิลปกรรมบำบัด ได้จัดงาน The art of us โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้านศิลปะ ขึ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้  งานด้านศิลปะ เชิงสร้างสรรค์ แก่บุคลากรและผู้สนใจ รับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับแนวคิดการใช้ศิลปะบำบัดเชิงสร้างสรรค์

ตลอดจน เปิดพื้นที่การเรียนรู้แก่บุคคลทั่วไป  ผู้ปกครอง ที่จะนำไปสู่มุมมองใหม่ในการประยุกต์ใช้ศิลปะบำบัดเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของตนเอง  ผู้บกพร่องฯ และผู้อื่น ที่สำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านศิลปะของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ซึ่ง มีผลงานส่งเข้าร่วมแสดงทั้งสิ้น 130 ผลงาน โดยผลงานบางส่วนในวันนี้จะได้คัดเลือกเพื่อไปร่วมแสดงในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นี้  ณ มหาวิทยาลัยคุมาโมโต้ ประเทศญี่ปุ่น จากความร่วมมือระหว่างคูมาโมโต้ซิตี้ มหาวิทยาลัยคุมาโมโต้ และองค์กรไจก้า

กิจกรรม ภายในงาน วันนี้ นอกเหนือจากการแสดงผลงานที่น่าชื่นชมกว่า 130 ชิ้นแล้ว ยังมีการบรรยาย ในหัวข้อ “ศิลปะแห่งชีวิต”  โดย คุณอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี (ครูมอส)  จิตรกร และนักศิลปะบำบัด มนุษยปรัชญา  กิจกรรม Workshop “Paint & Sculpture”

สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการฯ และการวิเคราะห์ผลงานศิลปะของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดย  ผศ.ดร. เลิศศิริร์ บวรกิตติ นักวิชาการศิลปศึกษาและศิลปะบำบัด  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ คุณอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี  ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว

สำหรับ วิวัฒนาการใน 5  ทศวรรษของสถาบันราชานุกูล จากอดีต…ถึงปัจจุบันนั้น แต่เดิมก่อนก่อตั้งโรงพยาบาลราชานุกูลนั้น  ผู้ที่มีปัญญาอ่อนส่วนมากจะถูกปล่อยปละละเลยให้อยู่กับบ้าน  มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสได้เข้ารับการบำบัดรักษาตามโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไป  บุคคลเหล่านี้มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาทางสังคม เพราะรับผิดชอบตนเองไม่ได้ต้องเป็นภาระของครอบครัว

โดยเฉพาะบิดา มารดา และญาติ พี่น้องที่จะต้องอุทิศเวลาในการดูแลเป็นพิเศษไม่มีเวลาออกทำมาหาเลี้ยงชีพ  ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม  และเศรษฐกิจของประเทศ  จึงเป็นภาระที่สังคมจะต้องให้ความช่วยเหลือ  และเป็นหาทางสาธารณสุขที่สมควรจะได้รับการแก้ไข  โดยหาทางป้องกัน  บำบัดรักษา เพื่อลดจำนวนให้น้อยลง  และแก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้  เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนต่อไป

ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลปัญญาอ่อน ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓  นับว่าเป็นโรงพยาบาลพิเศษเฉพาะบุคคลปัญญาอ่อนแห่งแรกในประเทศไทย

ยุคที่ 1 :  โรงพยาบาลปัญญาอ่อน (พ.ศ.2503-2522)

 โครงการ  “โรงพยาบาลปัญญาอ่อน” ถือเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโครงการหนึ่งในแผนพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติฉบับที่ 1 ของกองโรงพยาบาลโรคจิต   กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2503 เป็นต้นมา

โดยใช้เนื้อที่ 26 ไร่เศษ ของโรงพยาบาลโรคติดต่อของกรมอนามัย ต่อมากรมการแพทย์ได้เจรจากับเทศบาลนครกรุงเทพขอยืมที่บริเวณทิ้งขยะของเทศบาลฯ ซึ่งอยู่ด้านหลังติดกับโรงพยาบาลปัญญาอ่อน ขณะนั้นส่งผลให้มีพื้นที่ขึ้นอีก 6 ไร่ รวมเป็น 32 ไร่

ในส่วงของการตั้งชื่อโรงพยาบาลนั้น  ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการแพทย์เป็นผู้เริ่มโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับบุคคลปัญญาอ่อน โดยไม่ต้องใช้ศัพท์สันสกฤตหรือบาลีให้ต้องแปลกัน ทุกคนเห็นดีด้วยจึงมีการตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลปัญญาอ่อน”

โรงพยาบาลปัญญาอ่อน  ได้รับมอบสถานที่ดำเนินการก่อสร้างและจัดตั้งโรงพยาบาลปัญญาอ่อนแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2503   โดยได้แต่งตั้งนายแพทย์รสชง ทัศนาญชลี เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านแรก ได้ประกอบพิธีเปิดตึกอำนวยการเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2505  โดย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี   เริ่มแรกรับบุคคลปัญญาอ่อนจากโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 20 คน เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพต่อมารับผู้ป่วยใหม่อีก 5 ราย รวมเป็น 25 รายทั้งนี้เพื่อจะได้ฝึกทักษะแก่บุคลากรในโรงพยาบาลให้มีความรู้  ความเข้าใจ และความสามารถในวิธีปฏิบัติสำหรับดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพแก่บุคคลปัญญาอ่อน

ยุคที่ 2 : โรงพยาบาลราชานุกูล (พ.ศ.2522-2545)

หลังจากเปิดดำเนินการมาได้ 20 ปี คำว่าปัญญาอ่อนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย กระทรวงสาธารณสุขโดย นายยงยุทธ สัจจะวานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามโรงพยาบาลเพื่อเป็นสิริมงคลสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “โรงพยาบาลราชานุกูล” เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522

โดยเป็นโรงพยาบาลพิเศษเฉพาะทางเพื่อให้บริการแก่บุคคลปัญญาอ่อนแบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย บำบัด รักษา ส่งเสริมสุขป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมและให้การศึกษาดูงานแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ

ยุคที่ 3 : สถาบันราชานุกูล (พ.ศ.2545-ปัจจุบัน)

จากการปฏิรูประบบราชการ เมื่อปี พ.ศ.2545 โรงพยาบาลราชานุกูล ได้ปรับเปลี่ยน โครงสร้างบทบาทภารกิจใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ตามกฎกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2545  ยกระดับฐานะจากโรงพยาบาลเป็น “สถาบันราชานุกูล”

จากนั้นสถาบันฯได้ดำเนินงานตามพันธกิจที่ได้กำหนดไว้ มาเป็นระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ.2546-2550) พบว่าสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามกระแสสังคมและยุคโลกาภิวัตน์ ตลอดจนคำว่า “ปัญญาอ่อน” เป็นคำที่พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกอ่อนไหวและเป็นเสมือนการตีตราสร้างตราบาปให้กับเด็ก

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2550 จึงได้มีการทบทวนวิสัยทัศน์พันธกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์กรมสุขภาพจิตด้วย จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์  พันธกิจใหม่ เพื่อให้คำที่ใช้เรียกเด็กปัญญาอ่อนมีความหมายในเชิงบวกมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินงานของสถาบันราชานุกูลครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม

ได้แก่กลุ่มเด็กปกติเด็กที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการ สติปัญญาและสุขภาพจิต และกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางพัฒนาการ สติปัญญาและสุขภาพจิต 

 

ปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2560 สถาบันราชานุกูลได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากรอบทิศทางการพัฒนางานสุขภาพจิตและแผนยุทธศาสตร์กรมสุขภาพจิต ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  (พ.ศ.2560-2564)

เรื่องน่าสนใจ