ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 30 มิ.ย.) นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต   กระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่าจากเหตุนักเรียนอาชีวศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระราม 6 เขตบางพลัด กทม. และวิทยาลัยเทคนิคดุสิต ยกพวกตีกัน ที่บริเวณตลาดฝั่งตรงข้ามกับห้างเมเจอร์นนทบุรี อ.เมือง จ.นนทบุรี วานนี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 4 คน

ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นสะท้อนถึงปัญหาสังคม โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความคิด ขาดทักษะการจัดการอารมณ์ มีความอดทนต่ำ  แต่สาเหตุการยกพวกตีกันของเด็กสายอาชีวศึกษา ส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่จากเรื่องส่วนตัว มักเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความด้อยไม่ด้อยของสถาบันที่ศึกษาอิงตามกลุ่มเพื่อนพวกพ้อง

ช่วงที่นักเรียนอาชีวศึกษามักตีกันมี 2 ช่วง คือช่วงเปิดเทอมใหม่และช่วงก่อนปิดเทอม  เป็นช่วงที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันระวัง   โดยกรมสุขภาพจิตจะส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปร่วมให้การดูแลจิตใจญาติเด็กที่เสียชีวิตและดูแลจิตใจเด็กที่ได้รับบาดเจ็บและพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

โดยในวันจันทร์ที่จะถึงนี้จะส่งทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. และศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. เข้าไปร่วมให้การดูแลด้านจิตใจอารมณ์ของเด็กอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้ง 2 แห่ง เพื่อจัดระบบการเฝ้าระวัง การเสริมทักษะด้านการจัดการอารมณ์ ร่วมกับครูของทั้ง 2 สถาบันเพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำสอง

ขณะเดียวกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิต มีนโยบายป้องกันปัญหาความรุนแรงของกลุ่มวัยรุ่นในระยะยาวโดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นอันตรายของเด็กอาชีวศึกษา ทั้งเรื่องการดื่มสุรา สูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร  อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ ทะเลาะวิวาท รวมทั้งปัญหาการติดเกม  เป็นต้น

ซึ่งขณะนี้กรมฯได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พัฒนาโปรแกรมสร้างทักษะชีวิตที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้แก่นักเรียนสายอาชีวศึกษาระดับปวช. อายุ 15-20 ปี   เพื่อสร้างอนาคตวัยรุ่นของไทยให้มีคุณภาพ ให้สามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ จากสังคมในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคข่าวสารข้อมูลและเทคโนโลยี  วัยรุ่นจำเป็นต้องมีทักษะชีวิตวิเคราะห์ไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอย่างรอบด้านและตัดสินใจเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะสม ทักษะชีวิตจึงเสมือนเป็นวัคซีนสร้างภูมิต้านทานให้วัยรุ่นป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่เป็นภัยกับสุขภาพและสังคม ซึ่งกรมฯได้ดำเนินงานเรื่องทักษะชีวิตร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมาตั้งแต่ พ.ศ.2537เป็นต้นมา ได้ผลิตชุดสื่อหลายชุด

ได้แก่ ทักษะชีวิตป้องกันโรคเอดส์ ป้องกันสารเสพติด และป้องกันความรุนแรงในสถานศึกษา  ทั้งนี้เพื่อให้มีการทำงานที่สอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ในสังคม

กรมสุขภาพจิต ได้มอบให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์เป็นแกนหลักดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในการทบทวน/ปรับปรุงชุดคู่มือดังกล่าว

ซึ่งขณะนี้ได้ต้นแบบแล้วอยู่ระหว่างทดลองใช้โปรแกรมนี้ที่วิทยาลัยเทคนิคดุสิตและวิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรีในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560    จากนั้นจะทำการประเมินผลเพื่อปรับให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น  คาดว่าจะขยายผลใช้ในสถาบันอาชีวศึกษาตั้งแต่ปลายปี2560 นี้ เป็นต้นไป    

ทางด้าน แพทย์หญิงมธุรดา  สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. กล่าวว่า โปรแกรมสร้างทักษะชีวิตนักเรียนสายอาชีวศึกษานี้จะครอบคลุมทักษะที่จำเป็นในสังคมไทยและทักษะที่ต้องมีในสังคมศตวรรษที่ 21 ทั้ง 3 มิติ คือด้านความคิด ด้านอารมณ์ และด้านคุณค่าในตนเอง มีทั้งหมด 12 ทักษะย่อย

ประกอบด้วย ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะตระหนักรู้ในตน ทักษะเข้าใจคนอื่น ทักษะการจัดการความเครียด ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการสร้างสัมพันธภาพและทักษะการสื่อสาร  ทักษะด้านความภูมิใจในตนเอง ความรับผิดชอบสังคม และทักษะการสร้างเครือข่ายการทำงานเป็นทีม การวางเป้าหมายชีวิตและการวิเคราะห์ข้อมูลที่มาจากสื่อโซเซียลด้วย

สำหรับวิธีการสร้างทักษะชีวิตดังกล่าว จะดำเนินการโดยใช้กิจกรรม ซึ่งผ่านการตรวจสอบประสิทธิภาพจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตวัยรุ่น ด้านการศึกษา รวมทั้งประเมินจากผู้เรียนคือนักเรียนอาชีวศึกษาโดยตรง 10 แห่งแล้ว

มีทั้งหมด 16 กิจกรรม เช่นกิจกรรมเลโก้มหาสนุก กิจกรรมเคลื่อนพลข้ามฝั่ง กิจกรรมต้นไม้ชีวิต กิจกรรมสำรวจชุมชน กิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอ เป็นต้น  โดยครูจะบูรณาการจัดกิจกรรมแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนตามปกติในระดับปวช. โดยจะใช้กระตุ้นในช่วงที่เด็กมารวมกันใหม่ๆคือช่วงเปิดเทอม และก่อนจบในชั้นปีที่ 3

ภาพประกอบจากหนัง เด็กเสเพล

เรื่องน่าสนใจ