ที่มา: Matichon Online

“ฉีดกลูต้าไธโอน” ไม่ได้ผลจริง!

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากความนิยมผิวขาวใสของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ทำให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่แสวงหาวิธีที่จะทำให้ผิวขาวตามมา โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง 

ซึ่งสารที่นิยมนำมาใช้เพื่อปรับผิวให้ขาวใส นั้นคือกลูต้าไธโอน (glutathione) นั้น ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือยืนยันหรือรับรองประสิทธิภาพและประโยชน์ของกลูต้าไธโอนในการทำให้ผิวขาวได้อย่างแท้จริง แต่วัยรุ่น กลับหลงเชื่อคำโฆษณา อวดอ้างสรรพคุณต่างๆทางสื่ออินเทอร์เน็ต จึงพากันไปฉีดสารดังกล่าวเพียงเพื่อความสวยงามโดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่มีต่อร่างกายในระยะยาว

62

สำหรับสารกลูต้าไธโอนนั้น นพ.สุพรรณกล่าวว่า เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เซลล์ในร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เอง มีคุณสมบัติเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการปกป้องเนื้อเยื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และที่สำคัญยังช่วยตับในการทำลายและขจัดสารพิษออกจากร่างกาย กรณีการนำกลูต้าไธโอนไปฉีดเพื่อให้ผิวขาวนั้น ถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้ขึ้นมาเอง เนื่องจากคุณสมบัติของกลูต้าไธโอนสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีหรือที่เรียกว่าเมลานิน จึงมีการนำสารชนิดนี้ไปใช้ในการดูแลผิวให้ขาวขึ้น

ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนในท้องตลาดส่วนใหญ่อยู่ในรูปยาเม็ดสำหรับรับประทาน ซึ่งกลูต้าไธโอนนี้สามารถถูกทำลายได้ในทางเดินอาหาร ดังนั้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานกลูต้าไธโอนในรูปแบบของยารับประทานนั้นแทบจะไม่มีเลย  จึงมีผู้พยายามนำกลูต้าไธโอนในรูปแบบยาฉีดมาใช้แทนการรับประทาน เนื่องจากเชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการทำให้ผิวขาวได้ดีกว่า แต่ประเด็นสำคัญของการใช้ยาฉีดกลูต้าไธโอน คือ ความปลอดภัยจากการฉีดยา เนื่องจากบางคนฉีดเป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์และฉีดในปริมาณที่เกินขนาด 2-3 เท่าตัว เพราะเข้าใจว่ายิ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ผิวขาวรวดเร็ว ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตราย เพราะเมื่อฉีดสารดังกล่าวเข้าเส้นเลือดดำ คนไข้มีโอกาสที่จะแพ้ตัวยา สารปนเปื้อน ทำให้มีอาการช็อก ความดันต่ำ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้

นพ.จินดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การที่ร่างกายได้รับสารกลูต้าไธโอน เป็นเวลานานๆ จะทำให้เม็ดสีเมลานินบริเวณผิวหนังและที่จอตามีปริมาณลดลง ทำให้จอตารับแสงได้น้อยลงและเสี่ยงต่อการมองเห็นในอนาคต ส่วนเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนังที่ทำหน้าที่เหมือนฟิล์มกรองแสง หากใช้ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เม็ดสีผิวลดลง ส่งผลให้ร่างกายขาดเกราะป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต ผิวหนังก็จะเกิดการระคายเคือง มีริ้วรอย เหี่ยวย่น แก่เร็ว และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังอีกด้วย

เรื่องน่าสนใจ