ที่มา: dodeden

ดร.ภญ.มุกดาวรรณ  ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่าในช่วงสงกรานต์นี้ ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก เพื่อไปรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพหลายด้าน จำเป็นต้องรับประทานยาหลายชนิด เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยา อาจได้รับยามากเกินความจำเป็นจนเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายจากยา

รวมไปถึงการเข้ากันไม่ได้ของยาที่รับประทานร่วมกันหรือที่มักเรียกว่ายาตีกัน ดังนั้นควรมีผู้ดูแลคอยจัดยาให้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนเพื่อให้สามารถใช้ยานั้นได้อย่างถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด วิธีและเวลา โดยยารับประมานก่อนอาหารควรรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ส่วนยาหลังอาหารสามารถรับประทานหลังอาหารได้ทันที โดยไม่แตกต่างจากการรับประทานหลังอาหาร 15 นาที

ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรจัดยาไว้เป็นชุดที่สามารถรับประทานได้ในหนึ่งวัน โดยจัดใส่ตลับที่มีหลายช่อง เช่นวันหนึ่งต้องรับประทานสามครั้ง ควรจัดใส่ตลับที่มีสามช่อง และเขียนกำกับหน้าตลับให้ชัดเจน เช่น หลังอาหารเช้า กลางวัน หรือเย็น ขนาดของตลับไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป โดยเมื่อจัดยาใส่ตลับแล้วสามารถมองเห็นเม็ดยาได้ง่าย รวมถึงควรถามผู้สูงอายุเกี่ยวกับการรับประทานยาก่อนมื้ออาหารหรือหลังอาหาร ควรหมั่นถามว่าได้รับประทานยาแล้วหรือยัง และควรวางตลับยาให้เป็นที่เพื่อให้หยิบใช้ได้ง่าย และตรวจสอบได้ง่ายว่าผู้สูงอายุรับประทานยาแล้วหรือไม่ รับประทานยาครบในหนึ่งวันหรือไม่

ส่วนผู้สูงอายุที่รับประทานยาหลายชนิดและมีความซับซ้อน อาจเลือกตลับยาที่มีความละเอียดมากขึ้น ควรมีนาฬิกาข้อมือหรือโทรศัพท์มือถือเพื่อตั้งเวลาปลุกเตือนเมื่อถึงเวลารับประทานยา หรือมีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันสำหรับเตือนให้รับประทานยาในสมาร์ทโฟนซึ่งสามารถดาวน์โหลดใช้ได้ฟรี

ทั้งนี้ไม่แนะนำให้เตรียมยาล่วงหน้าครั้งละมากๆ หากเป็นยาบรรจุแผงแนะนำให้ตัดแผงยาตามเม็ดและเอาเม็ดยาออกจากแผงเมื่อจะรับประทานเท่านั้นเนื่องจากยาบางชนิดอาจไวต่อแสงหรือความชื้นทำให้เสื่อมสภาพได้ง่าย หากผู้สูงอายุลืมรับประทานยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเนื่องจากยาบางชนิดให้รับประทานทันทีที่นึกได้ยาบางชนิดอาจต้องรอรับประทานมื้อถัดไปซึ่งการลืมรับประทานยาจะส่งผลต่อการรักษาโรคได้

“การใช้ยาอย่างเหมาะสมเป็นพื้นฐานสำคัญในการดูและรักษาผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมีโรคร่วมหลายอย่าง การเลือกใช้ยาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ยา ใช้ยาเท่าที่จำเป็น ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ

ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องควรเอาใจใส่ในการใช้ยาของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ส่วนผู้สูงอายุก็ควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้ และควรมีวิธีการช่วยจำเพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวผู้สูงอายุเอง และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย และหากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรทันที” รองผู้อำนวยการฯ กล่าว

เรื่องน่าสนใจ