ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ชื่อ “เอี้ยเซี้ยฮวด” ไม่เพียงเป็นตำนานความอร่อยเคียงคู่กับชาวสามโคกมานานกว่า 4 ทศวรรษ ยังเกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตที่โลดโผนของ “กิมเว้ง แซ่เอี้ยว” ผู้ไม่ย่อท้อและเรื่องราวถูกเหล่าต่อสู่รุ่นหลาน

NjpUs24nCQKx5e1D7R0Zy6ZHDWkMH0taRiEyoHLk30l

วนิดา สุนทรเทพวรากุล หรือ “ฮุ้ง” ลูกสาวคนที่ 4 ของแปะ กิมเว้ง กับป้า ไช้เอ็ง แซ่เอี้ยว เล่าว่า เดิมทีเตี่ยของเธอยึดอาชีพพายเรือขายกาแฟ ในแม่น้ำเจ้าพระยาแถวสามโคก

ต่อมาเกิดเหตุการณ์บางอย่างทำให้อาแปะเว้ง ต้องเปลี่ยนอาชีพไปชำแหละหมูขายในตลาด ตามด้วยบทบาทพ่อค้าก๋วยเตี๋ยว แต่ก็ไม่วายที่โชคชะตาจะนำพาให้เขาต้องมาลงเอยกับการเป็นเจ้าของร้านอาหารจนได้

เธอว่า บิดาของเธอระดมทุนทั้งหมดที่มี มาทุ่มกับการรับจ้างจัดเลี้ยงโต๊ะจีน แต่พอรับงานแรก ซึ่งเป็นงานเลี้ยงโต๊ะจีนของตำรวจโรงพักสามโคก ก็ได้เรื่อง!!!

NjpUs24nCQKx5e1D7R0Zy6ZHDWkMH0umihxxHd1NkDd

ประเดิมงานแรกเลย มีป้าคนหนึ่ง เป็นลูกมือเตี่ย แกใช้เตาแก๊สไม่เป็น ทำไฟไหม้ จนข้าวของกับบ้านอีกหลายหลังหายไปกับกองเพลิง สุดท้ายบ้านเราเหลือสมบัติแค่ชิ้นเดียว คือ ชามใส่อาหาร ที่ยังเหลือชามใบนั้น เพราะก่อนหน้ามีเพื่อนบ้านมาขอยืมไปแล้วเอามาคืน ทุกวันนี้เลยเอามาจัดดอกไม้ เก็บไว้เป็นที่ระลึก”

ฮุ้งเล่าว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เผาทุกอย่างไปจนเกลี้ยง เตี่ยของเธอไม่ย่อท้อ ไปขอยืมเงินจากผู้มีพระคุณ มาลงทุนขายก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่งอีกครั้ง นอกจากคนกินจะไปบอกให้แกทำ ยังต้องไปช่วยสอนวิธีทำให้แกอีกต่างหาก

NjpUs24nCQKx5e1D7R0Zy6ZHDWkMH0wCoylbqCLXli7

ฮุ้งฉีกยิ้มเล่าถึงเตี่ยเธอตอนนี้ว่า “นึกแล้วก็ขำ ตอนนั้นเราคงเป็นร้านอาหารเจ้าเดียวล่ะมั้ง ที่คนกินต้องสอนพ่อครัวว่า ปรุงยังไง ใส่อะไรมั่ง…” แต่ด้วยความที่กิมเว้งเป็นผู้มีพรสวรรค์ในด้านอาหาร ไม่นานเสน่ห์ปลายจวัก ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียง จึงตัดสินใจเปิดร้านอาหาร เอี้ยเซี้ยฮวด ขึ้น โดยใช้ เอี้ย ซึ่งเป็นแซ่ ผสมกับเซี้ยฮวด ซึ่งแปลว่า เมืองที่เจริญ

เมนูเด็ดที่ลูกค้าติดใจ มีทั้งอาหารสไตล์นุ่มนวล และรสชาติจัดจ้าน ไม่ต่ำกว่า 10 เมนู ที่ลูกค้ามักชอบสั่งมาลองลิ้มกันเสมอ คือ เป็ดพะโล้ หมูกรอบคั่วเค็ม ยำขมิ้นสด หมูย่างตะไคร้ และ มะระผัดไข่ใส่แหนม

EyWwB5WU57MYnKOuXxymBLFBfDqZJqJqeeStASj8edxqXL2tbj6fax

เคล็ดลับความอร่อยของ เป็ดพะโล้ ฮุ้งบอกว่า ทางร้านจะใช้ เป็ดเชอรี่ ตัวที่ไม่แก่จัด เพราะจะให้เนื้อที่นุ่ม และหนังที่ไม่เหนียว หรือหนาเกินไป นำไปต้มด้วยไฟกลางจนสุกกำลังดี โดยให้สังเกตที่บริเวณ ข้อเท้าเป็ดจะล่อนออกจนเห็นกระดูก!!! ถ้าต้มนานไปกว่านี้ เธอว่าเนื้อจะเริ่มเละ ไม่อร่อย

ส่วนผสมน้ำพะโล้ที่ใช้ต้มเป็ด 8 ตัว ประกอบด้วยโป๊ยกั้กที่คั่วแล้วจนหอม 4-5 ดอก กุ๊ยผ้วยเปลือกไม้ให้กลิ่นหอมอีก 4-5 ท่อน ตามด้วย พริกไทย รากผักชี กระเทียม ทุบทั้งเปลือก ซีอิ๊วหวาน ซีอิ๊วเค็ม และ ข่าทุบ อย่างละพอประมาณ เกลือ 1 ขีด น้ำตาลทราย 2 ขีด จะได้น้ำเป็ดพะโล้กลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม

ฮุ้งกระซิบว่า น้ำจิ้มเป็ด ก็สำคัญ เธอใช้ ขิงแก่ ขีดครึ่ง ผสม กระเทียมเม็ดเล็ก อีกขีดครึ่ง กับ เต้าเจี้ยว เกือบ 1 ขวด ปั่นให้เข้ากันแล้วแบ่งออกมาทีละ 7 ช้อนโต๊ะ ผสมกับ น้ำมะนาวแท้ 12 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 7 ช้อนโต๊ะ น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง พริกขี้หนูแดง ครึ่งขีด ปั่นส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอีกครั้ง ผลลัพธ์ออกมาจะได้น้ำจิ้มเป็ดรสเด็ด หวานนำ เปรี้ยวตาม กลมกล่อมด้วยรสเค็มจากเต้าเจี้ยว และกลิ่นหอมเย็นจางๆจากขิงแก่

NjpUs24nCQKx5e1D7R0Zy6ZHDWkMH03vDryWckW41iF

หมูกรอบคั่วเค็ม เป็นอีกเมนูที่ อยากให้ลอง ทางร้านใช้หมูสามชั้นที่มีชั้น ไขมันไม่หนานัก หนักชิ้นละกิโลฯครึ่ง นำไปต้มนาน 1 ชั่วโมง หรือต้มจนไม่เห็นมีเลือดติดที่เนื้อหมู จากนั้นนำไปทาเกลือพอประมาณ ใช้ปลายมีดจิ้มที่หนังหมูให้ทั่ว (เพื่อตอนนำไปทอดจะได้พองฟู) แล้วนำไปเข้าเตาอบอีก 1 ชั่วโมง หรืออบจนเห็นว่าหนังหมูเริ่มเดือดปุดจึงค่อยนำออกจากเตา รอทิ้งไว้ให้เย็น

ใส่น้ำมันท่วมกระทะ ใช้ไฟกลางอุ่นกระทะ จนน้ำมันร้อนจัดค่อยนำชิ้นหมูลงทอด ระหว่างทอดต้องใช้ฝาหม้อปิดกระทะ พร้อมกับหรี่ไฟลง (เพื่อไม่ให้เนื้อหมูไหม้ ก่อนที่จะกรอบ) จากนั้น…สวรรค์ในปาก ก็แค่เอื้อม!!!

NjpUs24nCQKx5e1D7R0Zy6ZHDWkMH02t5dALh5QL1m5

ทางไป “เอี้ยเซี้ยฮวด” ไม่ยากเลย!! จากตัวจังหวัดปทุมธานี ใช้เส้นทาง ถ.ปทุมธานี-สามโคก ขับรถไปราว 6 กม. จนถึงที่ว่าการอำเภอสามโคก ร้านตั้งอยู่ในซอยฝั่งตรงข้าม เยื้องกับที่ว่าการอำเภอ ตรงเข้าซอยแล้วเลี้ยวขวาไปตามทางสัก 100 เมตร จะเห็นร้านตั้งขนาบกับริมคลอง บรรยากาศเย็นสบาย สไตล์เป็นกันเอง ร้านเปิดทุกวัน 10.00-16.00 น. แต่หยุดไม่แน่นอน ก่อนไปโทร.สอบถามได้ที่ 0-2593-1267, 08-3602-7555.­­

เรื่องน่าสนใจ