ที่มา: surgery.or.th

ทำความรู้จักกับแผลเป็น กับหลากหลายคำถามที่ทุกคนคาใจ ว่าการเกิดแผลเป็นนั้น มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดร่องรอยนี้ขึ้นมา ทำไมบางคนจึงเกิดแผลเป็นได้ง่าย ในขณะที่อีกคนก็แทบจะไม่มีเลย มาลองหาคำตอบกันค่ะ

ทำความรู้จักกับแผลเป็น กับหลากหลายคำถามที่ทุกคนคาใจ

แผลเป็นมีกี่ชนิด ?
แผลเป็นมีหลายรูปแบบ แต่แผลเป็นที่ถือว่าผิดปกตินั้นจะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ แผลเป็นที่โตนูน แผลเป็นที่โตนูนมี 2 แบบคือ แผลเป็นนูนเกิน หรือ hypertrophic scar เป็นแผลเป็นที่โตนูน แต่ไม่เกินขอบเขตของแผลเดิม ในระยะแรกจะมีลักษณะนูน แดง คัน แผลเป็นคีลอยด์ เป็นแผลเป็นที่โตนูน และขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก

แผลเป็นที่ลึกปุ่มลงไปที่เรียกว่า depressed scar มีลักษณะเป็นร่อง หรือรูปุ่มลึกลงไปใต้ผิวหนัง และแผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย เรียกว่า scar contracture แผลเป็นชนิดนี้จะดึงรั้งอวัยวะบริเวณแผลให้ผิดรูปได้ ซึ่งแผลเป็นทั้งสามลักษณะนี้ อาจจะมีผิวสีซีดที่เรียกว่า hypopigmentation หรือผิวสีเข้ม hyperpigmentation ก็ได้

hypertrophic scar เกิดจากอะไร ?
จริงๆ แล้ว ยังไม่มีคําอธิบายที่ชัดเจนว่าทําไมบางคนถึงเกิด hypertrophic scar หรือแผลเป็นนูนเกิน แต่สาเหตุอาจจะพบได้จากการที่แผลเกิดในตําแหน่งที่ความตึงมาก เช่น บริเวณข้อต่อหรือ กลางหน้าอก เป็นต้น แผลเป็นนูนเกินนี้ มักจะพบได้มากในช่วงระยะ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ยุบลง และจะกลับเข้าสู่แผลเป็นคงที่ (stable scar) มีลักษณะใกล้เคียงแผลเป็นปกติในช่วงประมาณ 1 ปีภายหลังเกิดแผล

แผลเป็นคีลอยด์เกิดจากอะไร ?
จริงๆ ก็ยังไม่ทราบสาเหตุของแผลเป็นคีลอยด์ แต่พบว่ามักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม ในตําแหน่งที่เกิดได้บ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ติ่งหูและกลางหน้าอก ส่วนหนึ่งพบในผู้ป่วยที่มีประวัติทางพันธุกรรม คือ มีประวัติการเกิดคีลอยด์ในพ่อหรือแม่ แผลเป็นคีลอยด์นี้ เชื่อว่าเกิดจากการที่แผลเป็นมีการสร้างสารที่เรียกว่าคอลลาเจนมากเกินกว่าปกติ

เราจะป้องกันได้อย่างไร ?
การป้องกันการเกิดแผลเป็นเป็นเรื่องสําคัญ โดยเฉพาะการที่มีแผลใหม่ๆ เราจะเริ่มโดยการนวด หรือการกดบริเวณนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วการนวดอย่างสม่ำเสมอในระยะประมาณ 3-4 เดือนแรก เป็นเรื่องสําคัญ และจะช่วยให้แผลเป็นนั้นลดการขยายตัวและนูนเกินได้ ในบางครั้งแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่กว้าง เช่นแผลเป็นที่เกิดจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก อาจจําเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือผ้ารัดหรือ pressure garment ซึ่งจะต้องสวมใส่เพื่อที่จะรัดบริเวณที่เกิดแผลเป็น เช่น ใบหน้า ลําตัว และ แขน ขา ในช่วงระยะประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีแรกหลังจากได้รับอุบัติเหตุ การนวด ก็จะสามารถลดการเกิดแผลเป็นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในช่วงระยะแรกที่แผลเป็นการอักเสบอยู่ การนวดก็จะช่วยลดไม่ให้แผลเป็นมีการขยายใหญ่โตได้

การรักษามีกี่วิธี ?
หากพบว่ามีแผลเป็นเกิดขึ้นแล้ว จะเริ่มจากการรักษาโดย

วิธีที่ 1 คือวิธีอนุรักษ์หรือว่า conservative ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว พบว่าเกิน 95 % รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีที่แนะนําให้ใช้วิธีแรกคือ การใช้แผ่นซิลิโคนปิด แผ่นซิลิโคนนี้จะเป็นแผ่นเจลใสๆ ที่ทํามาจากซิลิโคน เราสามารถปิดไว้บนบาดแผล หลังจากบาดแผลหายดีแล้วประมาณ 7 วัน การปิดแผลนี้ แนะนําให้ปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งข้อดีคือ จะทําให้บริเวณผิวหนังที่อยู่ใต้แผ่นซิลิโคนนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทําให้ลดการอักเสบได้

ทำความรู้จักกับแผลเป็น
ภาพจาก : rapidonline.com

วิธีที่ 2 เนื่องจากว่าบางครั้งเราพบว่าการปิดด้วยซิลิโคนอาจจะไม่สะดวก การใช้แผ่นเทปเหนียว หรือว่า microporous tape ก็จะสามารถทดแทนได้เช่นเดียวกัน แผ่นเทปเหนียวนี้ สามารถใช้ปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรง และจะทําให้ผิวหนังบริเวณได้ต่อเทปนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทําให้มีการอักเสบลดน้อยลง

วิธีที่ 3 การฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์ จะลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนเกิน หรือคีลอยด์ได้ ยาที่แนะนําคือ Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่สามารถลดการอักเสบ วิธีการรักษาคือฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง แต่ก็อาจทําให้มีอาการเจ็บได้พอสมควรในระหว่างการฉีดยา จะแนะนําให้ฉีดแผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน 1 ปีแรกหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่แล้วจะนัดมาฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งความถี่ในการฉีดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยาว่าเป็นอย่างไร

วิธีที่ 4 คือการผ่าตัด การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก หรือว่าลดขนาดลงบางส่วน วิธีนี้ อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การฉีดยา หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้ การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี อาจจะใช้วิธีตัดออกโดยตรงแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง หรืออาจจะตัดออกเป็นรูปซิกแซก เพื่อที่จะให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยยนตามผิวหนัง

การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่ง คือการลดขนาดของแผลเป็น วิธีนี้จะใช้วิธีการตัดแผลเป็นออกบ้างบางส่วน โดยจะไม่ตัดออกทั้งหมด หากแผลเป็นมีขนาดเล็กลง อาจจะนัดมาตัดซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย หรือ serial excision วิธีการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่ง คือการใช้วิธีขัดกรอผิวหนัง หรือว่า dermabrasion การขัดกรอผิวหนังนี้ จะใช้ในกรณีที่มีแผลเป็นที่รอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยปุ่ม แผลเป็นนี้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสิว อักเสบ หรือโรคสุกใส การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่รอยขรุขระนี้ เพื่อจะปรับสภาพผิวให้ราบเรียบขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออาจจะเกิดมีการเกิดผิวสีเข้มหรือ hyperpigmentation บริเวณนั้นได้

 

•••••••••••••••••••••

การรักษาแผลเป็นนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาดูว่าแผลเป็นนั้นเป็นแผลเป็นนูนชนิดใด หากเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ จะต้องพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นอาจจะมีแผลเป็นใหญ่โตเกินกว่าขนาดเดิมได้ โดยทั่วไปแล้ว แผลเป็นมักจะสามารถป้องกันได้ เพราะฉะนั้นหากเรารู้จักวิธีการดูแลรักษาภายหลังจากที่ได้รับแผลเป็นใหม่ๆ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้แผลเป็นนั้นนูน เกินหรือเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต

 

เรียบเรียงเนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ