นอนไม่หลับ ต้องรีบปรับร่างกาย ถ้าไม่อยากให้อันตรายมาถึงตัว! เพราะการกินอิ่ม นอนหลับ…และถ่ายสะดวก นับเป็นพื้นฐานความสุขอย่างหนึ่งในชีวิตของเรา แต่สําหรับบางคน สิ่งเหล่านี้กลับไกลเกินเอื้อม เพียงเพราะประสบกับอาการตาค้าง นอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ จนอ่อนเพลียไปทั้งกายใจ 

นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ ต้องรีบปรับร่างกาย

เราเชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักอาการนอนไม่หลับ มีแต่เป็นมากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไป “นอนไม่หลับ”  ถือได้ว่าเป็นอาการอย่างหนึ่งที่ พบได้ทั่วไป ทําให้หลายๆ ครั้งเรามักจะได้ยินคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่า คืนใดก็ตามที่นอนไม่หลับ เมื่อตื่นขึ้นมาหน้าตามักจะไม่ค่อยสดใส บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ทําให้วันนั้นทั้งวัน สมองไม่ปลอดโปร่ง รู้สึกหงุดหงิดง่าย เรื่องขัดใจบางเรื่องแม้จะเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ ลักษณะเช่นนี้ หากนานๆ เป็นครั้ง ก็อาจไม่มีปัญหา แต่หากเป็นบ่อยๆ ก็จะทําให้เสียบุคลิกภาพ โดยเฉพาะในการทํางาน เพราะคงไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้คนที่หน้าตาไม่รับแขก คือบูดๆ เบี้ยวๆ ขี้โมโห บรรดาคนใกล้ชิดก็จะพานเอือมระอา ทั้งยังอาจทํางานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ข้อเสียเหล่านี้ ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ที่ทําให้เสมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วย

นอนไม่หลับ

ความจริงนั้น การนอนไม่หลับเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดได้กับคนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ จากข้อมูลขององค์ การอนามัยโลก (The World Health Organization) พบว่า หนึ่งในสามของประชากรโลกประสบปัญหานอนไม่หลับ เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง มีผู้ที่นอนไม่หลับร่วม 75 ล้านคน โดยทั่วไปแล้ว การนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายสาเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน

เครียด…จึงตามมาด้วยการนอนไม่หลับ

จริงๆ แล้วนั้น การนอนไม่หลับไม่ได้เกิดจากความเครียดเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุและเข้ามาช่วยเสริมให้เกิดอาการนอนไม่หลับ เช่น โรคต่างๆ หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมบางประการ เพราะฉะนั้น หากใครหรือคนใกล้ตัวกําลังประสบปัญหานอนไม่หลับ โดยเฉพาะนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานาน อย่าเพิ่งโทษแต่ความเครียดเป็นสาเหตุเท่านั้น แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่ามาจากสิ่งใดกันแน่ เพราะหากมีสาเหตุมาจากโรคแล้ว จะได้รักษาได้ทันท่วงที ดีกว่ายอมนอนทนทุกข์ทรมานกับการนอนไม่หลับโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจกลายเป็นโรค นอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia)

นอนไม่หลับ

โรค “นอนไม่หลับ” หรือ Insomnia เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันคุ้นหู แทบไม่ต้องอธิบายกันมากถึงอาการ ลองนึกดูว่า ถ้าใครคนหนึ่งบ่นให้เราฟังว่า “เมื่อคืนนอนไม่หลับ” ก็เป็นอันเข้าใจ ไม่ต้องซักถามกันอีก ซึ่งต่างจากโรคอื่นหลายๆ โรค ที่ต้องซักรายละเอียดกันถี่ยิบ คนทั่วไปมักจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการนอนไม่หลับมาแล้วมากบ้าง น้อยบ้างต่างกันไป เรียกว่าพูดมาก็เข้าใจ….เพราะ “เคย” มาเหมือนกัน ความแตกต่างจึงอยู่ที่ บางคนอาจนอนไม่หลับเพียงไม่กี่คืน ขณะที่ บางคนอาจนอนไม่หลับเป็นเดือน

นอนไม่หลับ

ในขณะที่เรานอนนั้น ระบบและกลไกต่างๆ ของร่างกายก็ยังคงทํางานต่อไป แต่การทํางานของระบบและกลไกเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลง คือ บางอย่างอาจทํางานเพิ่มขึ้น ขณะที่บางอย่างอาจทํางานช้า หรือลดลง ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่เรานอนหลับ สารบางตัวเช่น Growth Hormone (ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย) จะหลั่งเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การบีบตัวของลําไส้จะช้าลง นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ จริงๆ แล้วยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบเมตาบอลิก (การเผาผลาญของร่างกาย) ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงการหลั่ง ฮอร์โมนอื่นๆ ที่มากมายเกินกว่าจะนํามาสาธยายได้หมด

ดังนั้น เมื่อร่างกายขาดการนอน การทํางานของระบบต่างๆ เหล่านี้ ก็จะถูกรบกวน ทําให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นระดับอุณหภูมิร่างกายที่ลดลง ระบบภูมิคุ้มกันลดลง เม็ดเลือดขาวลดลง การทํางานของเซลล์ที่ผิดไปจากปกติ หัวใจเต้นถี่ขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีงานวิจัยเป็นจํานวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่าการขาดการนอนหลับพักผ่อน มีส่วนสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันสูง หรือ โรคหัวใจ

นอนไม่หลับ

เมื่อขาดการนอน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ “คอร์ติซอล” คนที่นอนไม่พอ จะมีการหลั่งสารคอร์ติซอลมากกว่าปกติ ซึ่งสารคอร์ติซอลนี้ โดยทั่วไปจะหลั่งออกมามากเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียด เช่น เจ็บป่วย หรือน้ําตาลในเลือดต่ำ สารคอร์ติซอลนี้เอง ทําให้ปริมาณน้ําตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เมื่อน้ําตาลในเลือดเพิ่มเป็นระยะเวลานานจึงทำให้เกิดโรคอ้วน หรือโรคอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างมานั่นเอง

นอกจากนี้ เมื่อร่างกายขาดนอนหรือนอนน้อย การหลั่งสารเคมีอื่นๆ ในร่างกายก็จะเกิดความผิดปกติตามไปด้วย ทําให้ระบบร่างกายขาดความสมดุล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราขาดนอนหรือนอนไม่พอ ร่างกายก็จะหลั่งสารเคมีชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้น คือ เกอลิน (ghrelin) ในขณะเดียวกัน กลับลดการหลั่งสารเคมีอีกตัวให้น้อยลง นั่นคือ เลปติน (leptin) ความผิดปกตินี้ ส่งผลให้ร่างกายมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ําหนักตัวจึงเพิ่มมากตามไปด้วย

นอนไม่หลับ

สุขลักษณะในการนอนที่พึงปฏิบัติ

  • หากนอนไม่หลับ อย่านอนแช่อยู่บนเตียง
  • งดเครื่องดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน
    เช่น โค้ก เป๊ปซี่ ก่อนนอนเป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
  • หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน
  • ไม่ออกกําาลังกายก่อนนอน หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

ที่สำคัญ ควรเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา จัดห้องนอนไว้สำหรับนอนเท่านั้น และควรจัดห้องนอนให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการนอนด้วยนะคะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com
สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น ศัลยกรรม webdodeden

เรื่องน่าสนใจ