ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพภาพจิต และคณะ ตรวจเยี่ยมศูนย์สุขภาพจิตที่ 5  จังหวัดราชบุรี  และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์  จ.นครปฐม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี  ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 รอบที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2560 

ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และ สุพรรณบุรี ซึ่งมีประชากรทั้งไทยและต่างด้าวประมาณ 6 ล้านคน

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า  ในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นไป  กรมสุขภาพจิตจะปรับเปลี่ยนโฉมงานจัดบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลผู้ที่มีปัญหาเจ็บป่วยที่มีประมาณ 7 ล้านคน  และการส่งเสริมป้องกันเพื่อสร้างสุขภาพจิตดีแก่ประชาชน 58 ล้านคน  เสริมสมรรถนะการทำงานสร้างเศรษฐกิจรายได้ และความมั่นคงของสถาบันครอบครัว

โดยปรับหลักเกณฑ์การประเมินผลเป็นรูปธรรม เน้นที่ผลลัพธ์ประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของกรมฯคือเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพจิตเพื่อประชาชนมีสุขภาพจิตดีมีความสุข  วัดผลที่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและสัมผัสได้จริง

ส่วนของโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวชทั้ง 19 แห่ง  จะเน้นการสร้างความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคทางจิตเวชทุกโรค ซึ่งเป็นโรคเฉพาะทาง  เพื่อเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชในระดับศูนย์เชี่ยวชาญ ดูแลรายที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ที่ส่งต่อมาจากเขตสุขภาพต่างๆ จนอาการหายขาด หรืออยู่ในระดับที่ควบคุมอาการให้เป็นปกติได้

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต  ได้มอบนโยบายให้ศูนย์สุขภาพจิตที่มีทั้งหมด 13 เขต  เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนิน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัยให้มีสุขภาพจิตดี และวิจัยค้นหาปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันเช่นเขตเมือง ชบทบท แนวชายแดน  เป็นต้น

ประการสำคัญจะมีการพัฒนาเครือข่ายใหม่ เพื่อร่วมดำเนินงานด้านสุขภาพจิต นอกจากกลุ่มของอสม.คือ กลุ่มของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะในยามที่เกิดภาวะวิกฤติฉุกเฉิน

เช่น การทำร้ายตัวเอง กระโดดตึก เป็นต้น จะเป็นคนกลุ่มแรกๆที่เข้าไปถึงพื้นที่ก่อน  กรมสุขภาพจิตมีนโยบายจะพัฒนาสื่อมวลชนทุกสาขา ให้เป็นสื่อมวลชนเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต  

โดยจัดอบรมเพื่มพูนความรู้ด้านสุขภาพจิต ในเบื้องต้นนี้จะเน้น 2 เรื่องที่จำเป็นก่อนคือ การให้คำปรึกษาเบื้องต้น (  Counseling) เพื่อคลี่คลายความเครียด ความวิตกกังวลกับเหตุการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น หรือมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เห็นทางออกของการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี

ประการที่ 2 คือการให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลทางใจ ( Psychological First Aid ) ซึ่งเป็นหลักการดูแลจิตใจ ลดอาการปวดใจ คลี่คลายความทุกข์ใจได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งมีหลักการ 3 ส.คือสอดส่องมองหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่นโศกเศร้า เสียใจรุนแรง ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อรักษากับบุคลากรแพทย์  ซึ่งเป็นเรื่องประชาชนทุกคนควรมีความรู้ติดตัว เช่นเดียวกับการปฐมพยาบาลทางกาย เช่นการห้ามเลือด เป็นต้น

พร้อมทั้งสื่อมวลชนจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่กระจายองค์ความรู้สุขภาพจิตให้การแนะนำประชาชนในภาวะจำเป็นเร่งด่วนได้อย่างทันเหตุการณ์  จะเป็นการสร้างมิติใหม่ของงานสื่อสารสุขภาพจิตที่มีภาคสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาสุขภาพจิตคนไทยทั้งประเทศ

จะเริ่มอบรมนำร่องก่อนที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 จ.ราชบุรี ในต้นปีงบประมาณ 2561 สื่อมวลชนที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากหลักสูตรนี้  โดยจะฟื้นฟูเพิ่มเติมความรู้อย่างต่อเนื่องและต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อไป    

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  พร้อมผู้บริหารกรมฯ  , แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่  , นายแพทย์ชาญณรงค์ ชัยอุดมสม  สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฯลฯ 

รวมทั้งศิลปินจิตอาสา นายอนุรักษ์ บุญเพิ่มพูล หรือ บอม kpn ดารานักแสดง นักร้องสังกัดเคพีเอ็นอวอร์ด , มีน นายจิรัฏฐ์ เกตุภู่ นายแบบโฆษณา ร่วมกิจกรรม ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เดิน – วิ่ง มินิมาราธอน ครั้งที่ 1 “ซึมเศร้า…เราคุยกันได้’’ ( Depression : Let’s Talk Mini Marathon 2017 ) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นและเข้าเส้นชัย ณ โรงพยาบาลศรีธัญญา จังหวัดนนทบุรี มีนักวิ่งเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 3,000 คน

บอม kpn ศิลปินจิตอาสา กล่าวว่า “เราต้องยอมรับว่าสังคมในปัจจุบัน ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช หลายคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ หรืออาจเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ โดยส่วนหนึ่งอาจมองว่า ผู้ป่วยภายนอกดูเหมือนคนปกติทั่วไป 

หรือแม้แต่การนำเสนอผ่านสื่อหรือการใช้คำพูดที่ล้อเลียนผู้ป่วยทางจิต เช่น คนบ้า คนไม่เต็มบาท คนไม่ครบ ไม่สมประกอบ หรือเห็นใครทำอะไรแปลกๆ ไม่เหมือนคนอื่น ก็เรียก โรคจิต ซึ่งล้วนก่อให้เกิดภาพลบตอกย้ำให้เกิด ตราบาปต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชในสังคมมากยิ่งขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเข้ารับการรักษา ทั้งๆที่ ในความเป็นจริง “โรคนี้รักษาได้”

สำหรับ  โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมตนเองได้ไม่ดี แบ่งออกได้หลายกลุ่มตามลักษณะและความรุนแรงของการแสดงออก ได้แก่ กลุ่มวิตกกังวล กลุ่มซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน และกลุ่มโรคจิต ที่พบบ่อย เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวล  ออทิซึม ความผิดปกติที่เกิดจากการใช้สารเสพติด และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ยิ่งเข้ารับการรักษา แต่เนิ่นๆ ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดี และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญในการดูแลและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช จึงอยู่ที่ การดูแลไม่ให้ขาดยาเป็นอันขาด ตลอดจน ครอบครัว ชุมชนและสังคมต้องเข้าใจและยอมรับ ว่า การป่วยทางจิตไม่ต่างจากการป่วยทางกาย ที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเช่นกัน

ที่สำคัญ ต้องช่วยกัน ลดอคติ  ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง ส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงการรักษา ให้กำลังใจและให้โอกาสใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เพราะหากเกิดสภาพแวดล้อมที่แปลกแยก หรือ กดดัน กีดกัน รังเกียจ จะยิ่งเพิ่มปัญหาต่อการรักษามากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกดดัน ปลีกตัว อาการกำเริบ หรืออาละวาดขึ้นมาได้

และ ที่ต้องระวัง คือ อย่าให้ผู้ป่วยใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้อาการทางจิตกำเริบรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 ภาพจาก อินสตาแกรม @bomkpn 

เรื่องน่าสนใจ