ที่มา: dodeden

ผลสำรวจพบผู้พิการร้อยละ 80 มีปัญหาสุขภาพจิต “ทุกข์ใจอันดับ 1” ท้อแท้ ไปไหนมาไหนไม่สะดวก

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า กรมสุขภาพจิต จัดโครงการมอบรถเข็นชนิดพิเศษ รวม 3,000 คันและอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  ในปีงบประมาณ 2561  มูลค่ารวม 25 ล้านบาท  

โดย นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 3 ธันวาคม ทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันคนพิการสากล ( International Day of Persons with Disabilities )  เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมต่อความพิการและการยอมรับการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในสังคม 

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกรายงานขณะนี้มีประชากรโลกพิการประมาณ 650 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรโลกทั้งหมด  ในส่วนของประเทศไทย รายงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2560 มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการแล้ว 1.8 ล้านกว่าคน เกือบร้อยละ 50 หรือจำนวน 875,717 คน พิการทางการเคลื่อนไหว  ซึ่งเป็นกลุ่มคนพิการที่พบมากอันดับ 1 ของประเทศ

สาเหตุของความพิการในปัจจุบันส่วนใหญ่ร้อยละ 31 เกิดมาจากการเจ็บป่วยโดยเฉพาะจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองตีบ  โรคเบาหวาน   รองลงมาคือพิการแต่กำเนิดพบร้อยละ 18

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการดูแลคนพิการ  กรมสุขภาพจิตมีนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทุกประเภทให้ได้รับการดูแลทางสังคมและจิตใจ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข   โดยเฉพาะผู้พิการทางกาย ซึ่งมีข้อจำกัดในการเดิน

ในปีงบประมาณ 2561 นี้กรมฯได้จัดโครงการมอบรถเข็น(Wheelchair)จำนวน 3,000 คัน และอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี  รวมมูลค่า 25 ล้านบาท ให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล

ได้แก่ เพชรบูรณ์ มุกดาหาร  เชียงราย  ขอนแก่น พิษณุโลก เลย ปัตตานี นราธิวาส และเพิ่มในกทม.เป็นครั้งแรกด้วยรวมทั้งหมด 9 จังหวัด  เพื่อเติมพลังใจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการ   นอกจากนี้ยังมอบให้ผู้พิการที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาวด้วย  ขณะเดียวกันในปีนี้มีนโยบายให้ศูนย์สุขภาพจิตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ทำการสำรวจความสุข และสุขภาพจิตของคนพิการทั่วประเทศด้วย เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการดูแลทางจิตใจอย่างเหมาะสม สนองนโยบายรัฐบาล คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ( Leave no one behind )

“ รถเข็นคนพิการในโครงการฯนี้ เป็นชนิดพิเศษ มีการปรับวัดขนาดรถ เบาะนั่งให้เหมาะกับสภาพความพิการทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่ละคน  โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านจัดทำอุปกรณ์คนพิการทั้งในและต่างประเทศ 

เนื่องจากผู้พิการที่มารับบริการประมาณร้อยละ 60 เป็นเด็กพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น สมองพิการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การนั่งทรงตัวลำบาก แขนขาผิดรูป เป็นอัมพาตครึ่งท่อน เป็นต้น ทำให้ไม่มีปัญหาเด็กพิการตกจากรถเข็น  ผู้ปกครองใช้ได้อย่างสะดวก

ซึ่งจะมีการฝึกอบรมวิธีการใช้แก่ญาติ ผู้ดูแล และผู้พิการ เพื่อใช้อย่างปลอดภัย รถทั้งหมดนี้ได้รับการบริจาคมาจากองค์กรการกุศลต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น  ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดทำโครงการนี้ตั้งแต่พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน มอบรถเข็นไปแล้ว 5,447 คัน และอุปกรณ์ช่วยความพิการเช่นวอล์คเกอร์ ไม้เท้าอีก 6,534 ชิ้น มูลค่ารวม 205 ล้านบาท

ทางด้านนายแพทย์สมัย  ทองศิริถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า  จากการศึกษาปัญหาของคนพิการทางการเคลื่อนไหว พบว่าร้อยละ 80 มีปัญหาสุขภาพจิต เรื่องที่ทุกข์ใจมากที่สุด คือ การไปไหนมาไหนไม่สะดวก รองลงมาคือความรู้สึกเป็นภาระคนอื่น

ส่วนเรื่องจะทำให้คนพิการมีความสุข อันดับ 1 คือการมีเงินเพียงพอใช้จ่าย อันดับ 2 คือ การมีอุปกรณ์ช่วยให้ไปไหนมาไหนได้สะดวก และการมีงานทำ  จากการสำรวจคนพิการที่ได้รับมอบรถนั่ง เครื่องช่วยความพิการไปแล้วในปี 2557  พบว่า ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ใช้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้นร้อยละ 96 มีสุขภาพจิตดีขึ้นร้อยละ 83 ช่วยเรื่องสุขภาพกายร้อยละ 80

โดยคนพิการมีความสุขอยู่ในระดับมากร้อยละ 99.5 ผลแห่งความสุขใจนี้ จะช่วยให้คนพิการเกิดพลังใจ มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆหรือสร้างอาชีพต่อไป

“ปัญหาที่น่ากังวลใจ ยังพบว่าบางครอบครัวที่มีลูกพิการแต่กำเนิด  ไม่กล้าพาลูกออกไปรับบริการช่วยเหลือ  เนื่องจากมีความเชื่อว่าสาเหตุที่ลูกพิการเป็นผลมาจากบาปกรรมที่พ่อแม่ทำไว้ในอดีต  จึงมีความอายไม่กล้าพาลูกพิการออกสังคม  เพราะทำให้ครอบครัวเสียศักดิ์ศรี 

ความเชื่อดังกล่าวมีผลเสีย ทำให้ปิดกั้นโอกาสคนพิการในการเข้าถึงบริการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม  ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนพิการ  บางรายมีความเครียด ถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

ดังนั้นจึงขอให้ครอบครัวที่มีลูกพิการทุกประเภท  พาลูกออกไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน  เพื่อได้รับการดูแล โดยเฉพาะเด็กจะสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และบางโรคเช่นเด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น สามารถเรียนในระดับสูง ประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพได้  ”  นายแพทย์สมัยกล่าว

ทั้งนี้ ประเภทความพิการตามประกาศของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550  มี 7 ประเภท  ได้แก่ 1. ความพิการทางการเห็น  2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย  3. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม  5. ความพิการทางสติปัญญา  6.  ความพิการทางการเรียนรู้ และ7. ความพิการทางออทิสติก

เรื่องน่าสนใจ