โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆในคนไทย และอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มะเร็งชนิดนี้เกิดจากเซลล์บุผนังลำไส้ใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้งจนควบคุมไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจใช้เวลาร่วมหลาย 10 ปี ในระยะแรกๆ เซลล์อาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง เนื้องอกนี้อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งระยะต่างๆได้

สาเหตุ ของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ เช่น

  • มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลำไส้ใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไป เนื้องอกบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • อายุ โดยส่วนใหญ่พบว่ากว่า 90% มักเกิดกับคนที่อายุมากกว่า 50 ขึ้นไป แต่ก็อาจพบได้ในวัยหนุ่มสาวและวัยรุ่น
  • มีประวัติของโรค IBD (inflammatory bowel disease) ซึ่งอาจกลายเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังและเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • การไม่ออกกำลังกายและความอ้วน
  • การสูบบุหรี่

อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในบางครั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่มีอาการผิดปกติบ่งชี้ หรือบางครั้ง มีอาการดังต่อไปนี้

  • ท้องเสีย ท้องผูก หรือรู้สึกท้องอืด หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียบ่อยๆ
  • อุจจาระปนเลือดสดๆ หรือเลือดสีคล้ำมาก บางคนอาจคิดว่าเป็นแค่อาการของริดสีดวงทวารซึ่งจริงๆแล้วไม่ควรมองข้าม
  • ลักษณะลำ อุจจาระเล็กลงกว่าเดิม
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • โลหิตจาง เนื่องจากมีการสูญเสียโลหิตโดยที่มองไม่เห็นไปในลำไส้ใหญ่อย่างช้าๆเป็นระยะเวลานานเรื้อรัง

กลุ่มประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ประชากรที่มีอายุมากกว่า หรือ เท่ากับ 50 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตลอดจนกลุ่มประชากรที่มีโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจว่าตนเองมีความเสี่ยงมากน้อยอย่างไร สามารถเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อขอรับคำปรึกษา
การตรวจประเมินเบื้องต้น

การตรวจประเมินเบื้องต้น เป็นวิธีการที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสามารถแยกเนื้องอกที่กำลังจะกลายเป็นมะเร็งได้ แนะนำให้เริ่มตรวจประเมินเบื้องต้นทั้งผู้ชายและผู้หญิงเมื่ออายุ 50 ปี และควรตรวจซ้ำทุกๆ 10 ปี โดยหนึ่งในวิธีการตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่เป็นที่นิยม และแนะนำโดย American Cancer Society ก็คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy)

cororectal1

โดยที่แพทย์จะใช้กล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเล็กๆ สอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ โดยกล้องมีขนาดเล็กผู้ป่วยจึงไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด หรือบางแห่งอาจทำ ร่วมกับการให้ยานอนหลับทางเส้นเลือดทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเกร็งขณะทำ การส่องกล้องนี้จะทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายได้ และแพทย์สามารถดำเนินการรักษา หลายอย่างผ่านทางกล้องนี้ไปด้วย เช่น การตัดติ่งเนื้องอกผิดปกติที่พบระหว่างทำการตรวจผ่านทางกล้อง การสะกิดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ดูผลทางพยาธิ การหยุดเลือดที่ออกจากลำไส้ผ่านทางกล้อง การตรวจนี้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งได้ ด้วยการกำจัดติ่งเนื้องอก (polyps) อันเป็นจุดเริ่มของมะเร็งเป็นการตรวจ

cororectal2

การตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้อง

อย่างไรก็ตามหากมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวที่ชัดเจน ก็ควรจะเริ่มตรวจคัดกรองที่ อายุ 40 ปี หรือ เริ่มต้นที่ 10 ปีล่วงหน้าอายุของสมาชิกครอบครัวขณะที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น หากมีญาติสายตรงตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 45 ปี สมาชิกในครอบครัวก็ครัวมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 35 ปี เป็นต้น

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ โดยมะเร็งชนิดนี้ มักเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก (Polyp) โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีที่จะขยายใหญ่ขึ้นและอาจกลายเป็นมะเร็ง เนื่องจากขนาดที่เล็กของติ่งเนื้อ จึงทำให้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ

cororectal3

รูปติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ จึงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะหากตรวจพบติ่งเนื้อชนิดนี้ และทำการตัดรักษาได้จนหมด ย่อมเท่ากับเป็นการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วจากการตรวจโดยการส่องกล้อง ปัจจุบันนี้ทางเลือกมาตรฐานในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเป็นการผสมผสานระหว่าง การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) และการรักษาโดยการยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่ (angiogenesis) ซึ่งการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาแพทย์จะดูจาก

  • ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง (Cancer staging)
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ผมมักจะย้ำเสมอว่าวิธีรักษามะเร็งทุกชนิดที่ดีที่สุดในโลกนี้ ก็คือการป้องกัน การตรวจพบแต่เนิ่นๆ เพื่อเริ่มรักษาโดยไวตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อผลการรักษาที่ดี ดังนั้นอย่าลืมไปตรวจสุขภาพประจำปีกันและหากท่านอายุมากกว่า 50 ปีแล้ว อย่าลืมปรึกษาแพทย์เรื่องการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่กันด้วยนะครับ

 

dr.teay

ขอบคุณบทความโดย : นพ.วุฒิวัธ อนุพรรณสว่าง
Wutthiwat A.,MD.

เรื่องน่าสนใจ