ที่มา: manager

หากจะมองย้อนไปในอดีต นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ มาจนปัจจุบัน

อันเป็นปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศในช่วงต้นๆ รัชกาลเท่านั้น เช่น เสด็จเยือนประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม อินโดนีเซีย และสหภาพพม่า อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล เมื่อปี ๒๕๐๒

จากนั้นในปี๒๕๐๓- ๒๕๐๔ ก็ได้เสด็จฯเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป รวม ๑๔ ประเทศ ครั้นในปี ๒๕๐๕ ก็ได้เสด็จฯไปเยือนปากีสถาน สหพันธรัฐมลายา(ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นประเทศมาเลเซีย) นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ครั้น ปี ๒๕๐๖ ได้เสด็จฯเยือนญี่ปุ่น จีน และฟิลิปปินส์

ต่อมาในปี ๒๕๑๐ จึงได้เสด็จไปเยือนประเทศอิหร่านและสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง รวมถึงประเทศแคนาดาด้วย ครั้งล่าสุดคือการเสด็จเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เมื่อปี ๒๕๓๗ อาจกล่าวได้ว่า เวลาส่วนใหญ่

“ในหลวง”ของเราได้ทรงอุทิศพระองค์อยู่กับผืนแผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด

27-10-2558-9-02-37

นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจจนบังเกิดผลสำเร็จ นำผลประโยชน์มาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยมากมาย ทรงเป็นที่กล่าวขานถึงพระบารมีเลื่องลือขจรไกล

ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงบันทึกเป็นพระราชนิพนธ์ “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” ไว้ และอ่านแล้วเหมือน แม่หลวงเล่าถึงพ่อหลวงของแผ่นดินให้ฟัง อีกทั้งยังมีหลายๆเรื่องที่ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันน่าประทับใจยิ่ง

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำบางเรื่องมาเล่าต่อให้ทราบ ดังนี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตั้งแต่แรกว่า “…..เมื่อข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๑๙ ปีได้ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับมาอยู่เมืองไทย พร้อมด้วยลูกสาวคนโต ซึ่งอายุไม่ถึงขวบครั้นนั้นแล้ว จนมีอายุ ๒๗ ปี ข้าพเจ้าก็ยังมิได้เคยย่างกรายออกไปจากบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย

ทั้งนี้ ก็เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะไม่เสด็จออกนอกประเทศ ถ้าไม่ทรงมีเหตุที่สำคัญพอ ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของชาวไทย สมควรที่จะประทับอยู่ในบ้านเมืองเพื่ออยู่ใกล้ชิดกับราษฎรของท่านให้มากที่สุด

_paragraph_24_200

ถึงแม้เมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน ก็จะทรงแปรอยู่ในประเทศเรานี่เอง ทางเหนือบ้าง ทางใต้บ้าง แล้วแต่โอกาสจะอำนวย ไม่เคยทรงคิดที่จะเสด็จไปทรงสกีนอกประเทศตอนหน้าหนาว หรือเสด็จเมืองใกล้เคียงเพื่อทรงเที่ยวเตร่ ซื้อของ หรือเปลี่ยนบรรยากาศอย่างคนอื่นในฐานะเดียวกันนี้เลย ส่วนข้าพเจ้าก็ไม่คิดที่จะไปไหน ถ้าท่านไม่เสด็จ…….”

เมื่อคราวต้องเสด็จฯประเทศสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทรงเล่าว่า “…ครั้งแรกที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกให้นักหนังสือพิมพ์เฝ้า ข้าพเจ้ายังจำได้ไม่มีวันลืมว่าข้าพเจ้านั่งนิ่งไม่กระดุกกระดิกอยู่ข้างที่ประทับ มือเย็นเฉียบด้วยความกลัว เครื่องขยายเสียง เครื่องอัดเสียงเต็มไปหมด ไฟฉายตั้งส่องมาสว่างจ้าจนตาพร่า

ทั้งมีแสงว้อบๆแว้บๆ อยู่ไม่ขาดระยะ…เขามาทั้งถ่ายรูป ถ่ายหนัง ถ่ายโทรทัศน์ ทั้งถวายการสัมภาษณ์พร้อมกันไปหมด..ต่างก็เข้าไปรุมซักไซ้พระเจ้าอยู่หัวเป็นการใหญ่ พอทรงตอบคนนั้นเสร็จ คนนี้ก็ถาม…เป็นเวลา ๔๐ นาทีเต็มๆ ที่ท่านถูกนักหนังสือพิมพ์อเมริกันรุม ดูๆ ก็คล้ายการซักซ้อมจำเลยมากกว่าการถวายสัมภาษณ์

เมื่อเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อเมริกันก็เข้ามาทูลว่าทรงหนักพระทัยไหม รับสั่งว่าตอนแรกๆก็เป็นบ้าง เพราะยังไม่ทรงเคยมาแต่ก่อนเลย เขากลับชมเปาะว่าทรงเก่งมากสำหรับครั้งแรก ภาษาที่ทรงใช้ก็ไม่ใช่ภาษาของท่านเอง

เขาไม่เห็นทรงมีท่าทางสะทกสะท้านเลยแม้แต่น้อย เขาเคยติดตามคนสำคัญๆของประเทศต่างๆมาหลายราย…หลายครั้งที่เขาได้เห็นบางคนเหงื่อแตกท่วมตัว พูดติดอ่างจนพูดไม่รู้เรื่อง เสียบุคลิกลักษณะหมด…”

ครั้นเสด็จประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ปี ๒๕๐๕ นั้น ทรงเล่าว่า “…. นอกจากพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกระทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศเราแล้ว ยังต้องทรงอยู่ในบทบาทของนักพูดที่ถึงใจพระเดชพระคุณคนฟังโดยไม่ทันรู้พระองค์ล่วงหน้าอีกเล่า พระราชดำรัสที่เตรียมมาส่วนมากไม่เข้ากับคำและข้อความที่เขากราบบังคมทูลสดๆบนเวที เพราะชาว ๒ ประเทศนี้ภาคภูมิใจในบทบาทของนักพูดที่คมคาย ไม่ใช่นักอ่านคำที่เตรียมมาล่วงหน้า

พระเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงแต่งพระราชดำรัสขึ้นใหม่ในทันทีทันใดนั้นเอง เพื่อจะได้โต้ตอบกับเขาได้ถูกเรื่องและทันท่วงที บางทีก็ทรงเย้าตอบเขาอย่างขำๆ…ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นผู้ฟังพอใจในพระราชดำรัสทุกแห่งที่เสด็จ นอกจากฟังอย่างสนใจที่สุดแล้ว บางทีก็มีการหัวเราะครื้นเครงขึ้นมากลางคัน ถึงต้องหยุดรับสั่งไปครู่หนึ่งแล้วจึงรับสั่งต่อไป……”

ในคราวเสด็จฯมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลียในปีเดียวกันนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่พระเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าขณะที่อธิการบดีกำลังอ่านคำสดุดีพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวก่อนที่จะถวายปริญญานั้น ก็ได้มีนักศึกษาที่อยู่ด้านนอกส่งเสียงเอะอะโห่ฮาป่า เนื่องจากมีบางกลุ่มเข้าใจผิดและมีแนวคิดต่อต้าน หาว่าประเทศไทยเป็นเผด็จการ จึงไม่ยินดีต้อนรับ

ดังนั้น จึงมีการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไป ซึ่งพวกอาจารย์ หรือกรรมการมหาวิทยาลัยก็ห้ามไม่ได้ จึงได้แต่นั่งกระสับกระส่าย หน้าจ๋อย หน้าซีดด้วยความละอายใจในมารยาทของกลุ่มปัญญาชนของประเทศ ครั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปพระราชทานพระราชดำรัสตอบ ก็มีเสียงโห่จากกลุ่มดังกล่าวขึ้นอีก

สมเด็จพระนางเจ้าทรงเล่าว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือเย็นเฉียบ หัวใจก็หวิวๆ อย่างไรพิกล รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นดูพระพักตร์ท่าน……ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย

แต่แล้วข้าพเจ้านั่นเองแหละที่เป็นผู้ได้กำลังใจกลับคืนมา เพราะมองดูท่านขณะทรงพระดำเนินไปยืนกลางเวทีเห็นพระพักตร์สงบเฉย ทันใดนั้นเอง คนในหอประชุมทั้งหมดก็ปรบมือเสียงสนั่นหวั่นไหว คล้ายจะถวายกำลังพระทัยท่าน

กลุ่มที่ส่งเสียงอยู่ข้างนอกอย่างงดงามน่าดูที่สุด พระพักตร์ยิ้มนิดๆ… พระสุรเสียงราบเรียบยิ่งนัก “ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน” รับสั่งเพียงเท่านั้นเอง แล้วก็หันมารับสั่งต่อผู้อยู่ในหอประชุม ก็ปรากฏว่าเสียงฮาเหล่านั้นเงียบสนิทราวกับปิดสวิช และหลังจากนั้นก็ไม่มีอีกเลย

พระราชดำรัสวันนั้น ทรงรับสั่งสดๆ ไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทย และว่าเรามีภาษาและหนังสือซึ่งค้นคิดขึ้นใช้เอง มีตัวบทกฎหมาย….และว่าแต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวาง พร้อมจะให้โอกาสคนอื่นและฟังความเห็นของเขา เพราะเรามักใช้ปัญญาขบคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลก่อน จึงจะตัดสินใจว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินใจอะไรตามใจชอบโดยไม่ใช้เหตุผล…”

หลังจากนั้น เมื่อเสด็จกลับผ่านกลุ่มเด็กดังกล่าว ทรงเล่าว่าอากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บางคนก็เฉยๆ เจื่อนๆ หลบตา ไม่มีการมองแบบประหลาดๆ อีก แต่บางคนก็มีน้ำใจนักกีฬาพอที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส โบกมือและปรบมือให้ตลอดทาง

151021020542

ในการเสด็จประเทศอเมริกาครั้งที่สองปีพ.ศ. ๒๕๑๐ นี้ ทางมหาวิทยาลัยวิลเลี่ยมส์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกาจะถวายปริญญากิตติมศักดิ์แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะต้องมีพระราชดำรัสตอบท่ามกลางนักศึกษาที่มีทุกเพศ ทุกวัยและหลายชาติด้วยกัน

ปรากฏว่าก่อนจะถึงงานหนึ่งวัน ได้มีกรรมการมหาวิทยาลัยมาทูลว่าอาจจะมีการแจกใบปลิวหรือเดินออกจากพิธีบ้าง ก็ขออย่าตกใจเพราะเป็นเรื่องธรรมดา ในสหรัฐฯ ที่ทุกคนมีสิทธิจะทำได้ เขามาทูลไว้ก่อนเพราะได้ทราบว่าจะมีนักศึกษาบางคนเตรียมจะเดินออกจากที่ประชุมในขณะที่ประมุขคนหนึ่งของประเทศเอเซียอาคเนย์รับปริญญา

ซึ่งนักศึกษาว่าเขาไม่ได้เจาะจงโจมตีไทย แต่ในฐานะที่ไทยมีสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลเขา และพวกเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายส่งทหารไปรบที่เวียดนาม จึงกะว่าจะเดินออกไปขณะที่มีพระราชดำรัส แต่ปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น งานกลับเรียบร้อยไม่มีเหตุการณ์ที่กลัวเกิดขึ้น

ครั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงสอบถามดู จึงทราบว่าเขามิได้ห้ามนักศึกษาของเขามิให้กระทำ แต่เป็นเพราะพวกเขาเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงตบพระหัตถ์ให้เกียรติแก่นักศึกษาเกียรตินิยมอันดับสูง ๓ คนที่ออกไปอ่านบทความที่เขาแต่งขึ้นเพื่อประกวดรับรางวัล ซึ่งมีบทหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ ส่งทหารมารบที่เวียดนาม เมื่อเขาเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ยินยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นไม่ว่าจะสบพระทัยหรือไม่

พวกเขาจึงอยากจะแสดงว่าเขาเองก็ยินดียอมรับฟังความคิดเห็นของพระองค์เช่นกัน ซึ่งกรรมการฯก็ได้บอกว่าทุกคนชอบพระราชดำรัสมาก จะเห็นได้จากการลุกขึ้นยืนพรึบไปหมดแล้วตบมือถวายเป็นเวลานาน

ครั้นกลับมาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทูลถามว่าทำไมจึงทรงตบพระหัตถ์ให้ ทั้งๆ ที่หลายคนก็ไม่ได้ตบมือ บางคนถึงกับบึ้งตึ้งโดยเฉพาะบทความที่โจมตีเรื่องการส่งทหารไปเวียดนาม พระองค์ท่านทรงรับสั่งตอบว่า “ไม่รู้ดอกหรือว่าบทความเหล่านั้นเป็นบทความที่เขาได้รับรางวัลทางด้านภาษา เขาพูดเก่ง ใช้ภาษาที่ถูกต้อง ไม่ใช่รางวัลด้านนโยบาย ก็น่าตบมือให้ เพราะว่าเขาเขียนภาษาได้ไพเราะเพราะพริ้งมากกว่า”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น ทรงรับสั่งได้ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้การเสด็จฯ เยือนประเทศแคนาดาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๐ นั้นเป็นที่ประทับใจแก่ชาวแคนาดามาก เนื่องพลเมืองของประเทศนี้จะใช้ ๒ ภาษาคืออังกฤษ และฝรั่งเศส ในครั้งนั้นเมื่อเสด็จไปงาน Expo 67 นายกเทศมนตรีของมอนตรีออล ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานได้กราบทูลขอให้รับสั่งเป็นภาษาฝรั่งเศสในวันเสด็จเปิดศาลาไทย

โดยอ้างว่าจะเป็นที่ยินดีแก่ผู้ไปงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส แม้ว่าพระราชดำรัสเดิมจะทรงเตรียมไว้เป็นภาษาอังกฤษ และกว่าจะได้เสด็จกลับจากงานก็ดึกมากแล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัวของเราก็ทรงใช้เวลาร่างพระราชดำรัสเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยพระองค์เองเกือบตลอดคืนจนเกือบตี ๔

และเมื่อรับสั่งแล้ว ผู้ฟังพอใจมากปรบมือถวายอยู่นาน หรือเมื่อเสด็จงานเลี้ยงรับรองของมหาวิทยาลัย Laval เมื่ออธิการบดีกราบบังคมทูลเป็นภาษาฝรั่งเศส ก็ทรงตอบเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยไม่ได้ทรงเตรียมมาก่อนเลย ทำให้เขาจับใจมาก เพราะชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสมักคิดว่าคนมีการศึกษาดีควรพูดได้ ๒ ภาษา นอกเหนือไปจากภาษาของตนเอง และยังค่อนข้างมีความรู้สึกชาตินิยมรุนแรง

เรื่องราวข้างต้น แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดมาเนิ่นนาน แต่เชื่อว่าพสกนิกรชาวไทยทุกคนที่ได้อ่านคงจะเกิดความปลื้มปิติในพระปรีชาสามารถและพระปฏิภาณไหวพริบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “พ่อหลวง” ของเราไม่น้อย โดยเฉพาะในสมัยก่อนนั้น อาจกล่าวได้ว่า “ประเทศไทย” ไม่เป็นที่รู้จักในต่างประเทศเท่าไรนัก การที่ทรงตรากตรำ เหนื่อยยากเสด็จฯไปเยือนประเทศต่างๆ นอกจากจะทำให้ชาวต่างประเทศได้ประจักษ์ในพระอัจฉริยะจากที่ทรงมีพระราชดำรัสโต้ตอบได้อย่างแตกฉานแล้ว ข้อสำคัญคือยังได้ทรงสร้างเกียรติศักดิ์ให้แก่ชาติไทย และทำให้ “ประเทศไทย” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมาจนปัจจุบัน

………………………………………………..

อมรรัตน์ เทพกำปนาท

กลุ่มประชาสัมพันธ์

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

เรื่องน่าสนใจ