พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ในโรงพยาบาลจะต้องแยกหอผู้ป่วยหรือแยกวอร์ด เนื่องจากเมื่อช่วง 20 – 30 ปีที่แล้ว ถือเป็นโรคใหม่ของประเทศไทย องค์ความรู้ยังจำกัด ยาต้านไวรัสเอชไอวีก็ยังไม่ดีพอ

03 (2)

ผู้ป่วยที่มารับการรักษาก็มักเป็นระยะที่ป่วยค่อนข้างมากแล้ว มาในลักษณะตัวซูบผอม ผิวหนังออกมีสีดำ และเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค เป็นต้น การรักษาจึงจำเป็นที่จะต้องแยกจากผู้ป่วยปกติ เนื่องจากผู้ป่วยคนอื่นรู้สึกไม่สบายใจหากจะต้องได้รับการรักษาข้างๆ กับผู้ป่วยเอดส์ รวมไปถึงป้องกันการกระจายของโรคฉวยโอกาสที่แพร่ผ่านทางเดินหายใจ

ส่วนปัจจุบันเรามีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเอดส์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าที่จริงแล้วเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม การติดเชื้อเอชไอวีนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ได้ติดกันผ่านทางสัมผัส น้ำลาย ทางการหายใจ นอกจากนี้ การวินิจฉัยและการให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีก็รวดเร็วขึ้น

ซึ่งครอบคลุมไปถึงโรคติดเชื้อฉวยโอกาสด้วย ทำให้อัตราการป่วยจนต้องเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยเอดส์น้อยลง อย่างอดีตอัตราการครองเตียงผู้ป่วยในของสถาบันบำราศฯ ในวอร์ดอายุรกรรมเกินครึ่งล้วนเป็นผู้ป่วยเอดส์ แต่ปัจจุบันลดน้อยลงอย่างมาก จะมีก็เพียงผู้ป่วยนอกที่มาตรวจเช็กร่างกายและมารับยาต้านไวรัสตามปกติอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

“ปัจจุบันสถาบันฯจึงยกเลิกการแยกวอร์ดผู้ป่วยโรคเอดส์แล้ว ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี แรกๆ ยอมรับว่า มีข้อสงสัยจากผู้ป่วยธรรมดาอยู่ไม่น้อย เพราะผู้ที่มาประจำจะทราบดีว่าวอร์ดนี้คือวอร์ดของผู้ป่วยเอดส์ เขาก็คิดว่าทำไมต้องพาเขามารักษาในวอร์ดนี้

แต่เมื่อทำไปสักพักก็เกิดการกลืนกันจนเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นวอร์ดผู้ป่วยเอดส์ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเราก็ทำตามมาตรฐาน อุปกรณ์ต่างๆ ไม่มีการใช้ปนระหว่างคนไข้อยู่แล้ว ทั้งนี้ การยกเลิกวอร์ดผู้ป่วยเอดส์ โดยให้การรักษารวมถือเป็นการลดการตีตราของสังคม” ผอ.สถาบันบำราศฯ กล่าว

พญ.จริยา กล่าวว่า แม้จะยกเลิกวอร์ดผู้ป่วยเอดส์ แต่หากผู้ป่วยเอดส์เกิดการป่วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่สามารถแพร่กระจายไปยังผู้ป่วยคนอื่นได้ เช่น ป่วยเป็นวัณโรคในระยะแพร่กระจาย ก็จำเป็นที่จะต้องแยกออกมารักษาในวอร์ดสำหรับคนไข้ติดเชื้อ ซึ่งมาตรการนี้ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้ป่วยเอดส์เท่านั้น

คนธรรมดาหากเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นทางอากาศได้ก็ต้องแยกผู้ป่วยตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ตนเชื่อว่าแทบทุกโรงพยาบาลก็น่าจะดำเนินการยกเลิกวอร์ดผู้ป่วยเอดส์บ้างแล้ว เพื่อลดการตีตราในสังคม

ที่มา ผู้จัดการ

ภาพ ไทยรัฐ

เรื่องน่าสนใจ