สถาบันการจัดการนานาชาติ เผยผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ ปี 2017 สวทน. เตรียมนำเสนอกรอบลงทุนและจัดมาตรการส่งเสริมภาคการผลิตและบริการ 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ต่อ สวนช. ภายใน มิ.ย. นี้
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปีนี้สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) เผยแพร่ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 63 ประเทศทั่วโลก
ในรายงาน The World Competitiveness Yearbook (WCY) ประจำปี 2560 พบว่า แม้การจัดอันดับด้านวิทยาศาสตร์ฯ จะลดลง 1 อันดับจากอันดับที่ 47 เป็นอันดับที่ 48 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับพบว่าหลายตัวชี้วัดย่อยมีอันดับดีขึ้นมาก
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ โดยพิจาณาจาก 25 ตัวชี้วัดย่อย เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาโดยรวม และจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนามีการปรับตัวดีขึ้นทุกปัจจัย
โดยเฉพาะจากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 73% ส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคธุรกิจต่อจีดีพี ปรับตัวดีขึ้น 10 อันดับ นอกจากนั้นความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของประเทศก็มีการปรับตัวดีขึ้นถึง 9 อันดับ
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษีด้านการวิจัยและพัฒนา 300% การพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทาเลนท์โมบิลิตี้
การช่วยเหลือทางเทคโนโลยีของ เอสเอ็มอี และการพัฒนาเขตนวัตกรรมด้านพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางนวัตกรรมภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านการวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน อย่างไรก็ตามยังมีเกณฑ์บางตัวที่ยังอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนัก ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการเร่งดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ เช่น การเร่งเพิ่มจำนวนสิทธิบัตร เป็นต้น
“ในการจัดอันดับเป็นการเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ที่ทุกประเทศต่างก็มีการพัฒนาขีดความสามารถเช่นเดียวกัน จึงเป็นการแข่งขันกับเป้าหมายที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ไม่ใช่เป้านิ่ง
ดังนั้นการเร่งเครื่องให้แรงขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยจะไล่ทันหรือแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ต่อไป โดย สวทน. ได้เตรียมเสนอยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ที่เป็นยุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยมีแผนนำเสนอต่อสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเป็นกรอบการลงทุนและจัดมาตรการส่งเสริมภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดอย่างมีประสิทธิผลต่อไป” เลขาธิการ สวทน. กล่าว