ที่มา: voicetv

สธ. ห่วงฝนตกชุกภาคใต้ กำชับเร่งรัดควบคุมโรคไข้เลือดออก แนะวิธีลดยุงลาย พบไข้สูงเสี่ยงช็อครีบพบแพทย์ – วินิจฉัยรักษาโดยเร็ว

11768

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกขณะนี้ในภาพรวมของประเทศลดลง ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 พฤศจิกายน 2558 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 111,826 คน เสียชีวิต 108 ราย โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 4,262 คน เสียชีวิต 2 ราย อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ยังมีฝนตก โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นช่วงฤดูฝน หากการควบคุมป้องกันไม่เข้มแข็ง อาจมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ควบคุมป้องกันโรค และลดการเสียชีวิต จึงแนะข้อความปฏิบัติคือ

  1. ขอความร่วมมือประชาชนใช้มาตรการ 5 ป 1 ข คือ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุก ๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง ปฏิบัติตนเองจนเป็นนิสัย และขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่
  2. ใช้มาตรการ 3-3-1 โดยเมื่อพบผู้ป่วย ให้รายงานให้หน่วยควบคุมโรคของพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง ให้อาสาสมัครสาธารณสุขออกกำจัดลูกน้ำยุงลายที่บ้านและในชุมชนของผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคในพื้นที่ภายใน 1 วัน เพื่อพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ในรัศมี 100 เมตร ป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมซ้ำอีก
  3. ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ยุงกัดผู้ป่วย อบรมฟื้นฟูแพทย์ในพื้นที่เป็นประจำ เพื่อให้มีความชำนาญในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค รวมทั้งมีระบบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในจังหวัด

อย่างไรก็ตามหากป่วยมีไข้สูงลอย กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้คิดถึงโรคไข้เลือดออก รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องให้พ้นระยะอันตราย คือช่วงที่ไข้เริ่มลดที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อค สังเกตจากผู้ป่วยจะซึมลง อ่อนเพลีย อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากช้าอาจเสียชีวิตได้

เรื่องน่าสนใจ