ที่มา: dodeden

ผู้สื่อข่าวโดดเด่นดอทคอม รายงานว่า วันนี้ ( 7 สิงหาคม 2560) นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังวิกฤต ใน 10 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด นครพนม นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา ประชาชนได้รับผลกระทบ 101 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 323,571 ครัวเรือน

ซึ่งกรม สบส.ได้ระดมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือดูแลสุขภาพผู้ประสบภัย โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์เบื้องต้น

โดยการช่วยเหลือดูแล แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. การเตรียมตัวระยะก่อนเกิดภัยพิบัติ การวางแผนเตรียมการรับสถานการณ์ การวิเคราะห์กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ฐานข้อมูลสุขภาพของครัวเรือน การแจ้งเตือนประชาชน การแจ้งเตือนข่าว แผนการเยี่ยมบ้าน การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

2. ช่วงระยะเกิดภัยพิบัติ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ การดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วยเบื้องต้น การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม และการสร้างขวัญและกำลังใจ  และ 3. ช่วงระยะฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ เยียวยาจิตใจเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด การฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลน้ำและอาหาร เพื่อป้องกันโรคระบาด

นอกจากนี้ อสม.จะเข้าให้ความรู้และแจกสื่อประชาสัมพันธ์ ข้อปฏิบัติในการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัย ดังนี้ 1.การฆ่าเชื้อรา ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือคลอรีน ผสม 1 ต่อ 500 หรือ 1000 หรือใช้น้ำส้มสายชู เช็ดถู ฉีดพ่น หลังจากนั้นประมาณ 10-20 นาที เช็ดถูทำความสะอาดอีกครั้งด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป 2.การกำจัดกลิ่นเหม็น ควรใช้น้ำหมักชีวภาพ EM ราดลงพื้นหรือฉีดพ่น จะช่วยกำจัดกลิ่นได้

3.คราบสกปรก ใช้น้ำยาทำความสะอาด เช็ดถูหรือขัดตามปกติ สามารถใช้เครื่องขัดพื้นช่วยได้ สำหรับพื้นที่ด้านนอกใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงร่วมกับน้ำยาจะทำความสะอาดได้เร็วขึ้น และ 4.ความชื้น ให้เปิดประตู หน้าต่าง และพัดลม เพื่อให้อากาศถ่ายเทพัดพาเอาความชื้นออกไป

ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะเครื่องปรับอากาศ จะดูดเอาความชื้นและเชื้อโรค ทำให้เกิดโรคและภูมิแพ้ได้ ในส่วนของระบบไฟฟ้า ให้สำรวจสายไฟ เต้าเสียบ สวิตช์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่แช่น้ำ โดยช่างไฟฟ้าที่ชำนาญงานเท่านั้น ห้ามเปิดใช้งานทันที ทั้งนี้การทำความสะอาดควรสวมถุงมือ รองเท้ายาง  ผ้าปิดจมูกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสูดดม สัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ และความปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่ว

“การดูแลสุขภาพของประชาชนในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเครียด โรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งอุบัติเหตุที่อาจเกิดการสูญเสียชีวิต

ดังนั้น อสม.ถือเป็นกำลังคนด้านสุขภาพที่สำคัญที่ใกล้ชิดประชาชนในชุมชนที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และหญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับการดูแลเบื้องต้น ป้องกันโรคระบาดและฟื้นฟูสภาพจิตใจให้คืนสู่ภาวะปกติได้” อธิบดีกรม สบส. กล่าวปิดท้าย 

เรื่องน่าสนใจ