ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ข้อมูลจาก www.iSpacethailand.ORG จั่วหัวไว้ “ชายไทยงานเข้า!!! สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรองแล้ว!!!” สร้างความตะลึงจนไม่อาจละสายตา แก่ผู้ที่ไม่สะดวกใจจะกลับไปเป็นทหารอีกครั้งอย่างท่วมท้น

EyWwB5WU57MYnKOuYBsjgQ4CV2W5PtndKOuAOl36VXOt2KArIDLhqL

รายละเอียดบางส่วนจากเว็บไซต์นี้ ระบุใจความสำคัญไว้ว่า เป็นข่าวกันมาหลายเดือนกรณีการออกกฎหมายเรียกกำลังพลสำรอง เข้ามารับราชการทหาร ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 สนช.ได้มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 192 เสียง งดออกเสียง 4 เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งจะมีผลทำให้กองทัพ มีอำนาจในการเรียกพลเรือน ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนด มารับราชการทหารได้

ในเว็บไซต์นี้ระบุว่า ตามเนื้อหาของร่างกฎหมาย กำหนดให้สามารถคัดเลือกบุคคลจากผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยให้นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง เป็นผู้ทำการคัดเลือก

กรณี “การเรียกกำลังพลสำรอง” ให้กระทำได้ในกรณีจำเป็นเพื่อปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ

ส่วน “การระดมพล” ให้กระทำได้ในเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศกฎอัยการศึก หรือมีการรบ หรือการสงคราม

กำลังพลสำรองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยงฯ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่หากผู้ใดหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนไม่มา หรือมาแต่ไม่เข้ารับราชการทหาร ไม่ว่าเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม หรือในการระดมพล มีโทษปรับและจำคุกไม่เกิน 4 ปี หากอยู่ไม่ครบตามกำหนดเวลาในคำสั่งเรียก ถือว่ามีความผิดฐานหนีราชการ และต้องโทษตามกฎหมายว่าด้วยอาญาทหาร

ส่วนประเภทบุคคลที่จะเป็นกำลังพลสำรองนั้น ในบทบัญญัติกำหนดคำนิยามเอาไว้ “กำลังพลสำรอง” หมายถึง บุคคลซึ่งเป็นกำลังสำรองประเภทที่ 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม

ซึ่งในที่นี้ “กำลังพลสำรอง” มีที่มาจาก นายทหารประทวนกองหนุน (ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3), นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน (ผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 5), ทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ที่รับราชการในกองประจำการครบกำหนด และปลดเป็นทหารกองหนุนตามกฎหมายแล้ว หรือ ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 (บุคคลที่ได้รับใบดำในการเกณฑ์ทหาร)

เว็บไซต์นี้ได้ระบุว่า แปลความกันง่ายๆ…บุคคลที่เข้าข่ายถูกเรียกตัวเข้ารับราชการทหารตาม พ.ร.บ.กำลังสำรองดังกล่าว คือ ชายไทยทุกคน

ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่เรียนรักษาดินแดน (รด.) 3 ปี หรือ 5 ปี, ชายไทยที่เคยเข้ารับการเกณฑ์เป็นทหารกองประจำการ และปลดประจำการแล้ว รวมถึงชายไทยที่จับใบดำ ได้รับการยกเว้นถูกเกณฑ์ทหาร ก็เข้าข่ายเป็นกำลังพลสำรองเช่นกัน

ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ของชายไทย เพราะที่ผ่านมาชายไทยมีพันธะในการรับราชการทหารจากการเกณฑ์ทหารเพียง 2 ปีเท่านั้น และสามารถหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารได้ด้วยการเข้าเรียนวิชาทหาร หรือ รด. เป็นเวลา 3 ปี หรือจับได้ใบดำ ไม่ต้องถูกเรียกเกณฑ์

แต่ด้วย พ.ร.บ.กำลังสำรองดังกล่าว ทำให้ชายไทยทุกคน ที่มีคุณสมบัติ มีพันธะถูกเรียกเกณฑ์เข้าเป็นทหารได้ เมื่อมีเหตุจำเป็น ไม่ว่าจะมีครอบครัว ทำงาน หรือกำลังศึกษาอยู่ ก็ไม่ได้รับการยกเว้น หากขัดขืนมีโทษจำคุกถึง 4 ปี!!!

เนื่องจากประเด็นดังกล่าว มีผู้ให้ความสนใจในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นนี้ ทางคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” จึงได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวในกองกำลังพล ศูนย์การกำลังสำรอง ถ.วิภาวดีรังสิต โดยแหล่งข่าวทั้ง 3 นาย ได้ร่วมกันอธิบายว่า

ตามระเบียบกองทัพบก พ.ศ.2543 ว่าด้วย การเรียกพล แบ่งออกเป็นหลายระดับ เช่น เรียกพลเพื่อตรวจสอบ เรียกพลเพื่อให้มาฝึกวิชาทหาร และ เรียกพลเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม เป็นต้น

ทหารกองหนุน ประเภทที่ 1 หมายถึง ทหารที่ปลดจากกองประจำการ โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนด หรือ
ทหารกองเกิน ซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ แล้วปลดเป็นกองหนุน โดยจะอยู่ในชั้นกองหนุนต่างๆ ดังนี้

กองหนุนชั้นที่ 1 เป็นเวลา 7 ปี กองหนุนชั้นที่ 2 เป็นเวลา 16 ปี และกองหนุนชั้นที่ 3 เป็นเวลาอีก 6 ปี จากนั้นจึงจะพ้นจากราชการทหาร

“ตัว พ.ร.บ.กำลังสำรองฉบับใหม่ ได้รวมเอากฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่เดิมหลายส่วนไว้ด้วยกัน โดย สนช.ได้ผ่านความเห็นชอบเป็นกฎหมายไปแล้ว ระหว่างนี้อีก 8 เดือน อยู่ในช่วงจัดทำเป็นกฎหมายลูกให้เสร็จก่อน จึงค่อยออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา มีผลบังคับใช้”

แหล่งข่าวอธิบายว่า ปกติการเรียกพล ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เรียนจบ รด. (นักศึกษาวิชาทหาร) หรือผู้ที่ปลดจากพลทหาร (ทหารเกณฑ์) มา ก็ล้วนมีสิทธิ์ที่จะถูกเรียกพลจากกองทัพได้อยู่แล้ว เพียงแต่ตามกฎหมายเดิม มีศักดิ์เป็นแค่ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการเรียกพล

“คล้ายๆกับว่า กฎหมายเดิมบางส่วนทับซ้อนหรือเกยกันอยู่ ยกตัวอย่างของ รด. มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.2503 แต่ตามกฎหมายกำลังสำรองเดิม ตชด.หรือตำรวจตระเวนชายแดน ก็ถือเป็นกำลังสำรองด้วย กฎหมายใหม่จึงเอา ตชด.ออกจากกำลังสำรอง และปรับบางเรื่องให้ทันสมัยขึ้น”

แหล่งข่าวบอกว่า ไม่อยากให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดเรื่องนี้

“คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจว่า การเรียกพล มีหลายระดับตั้งแต่ขั้นต้น เรียกเพื่อตรวจสอบดูว่าสภาพกำลังพลที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเช่นไร เรียกเพื่อให้มาฝึกทบทวนวิชาทหารเป็นเวลา 10 วัน เรียกเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม ซึ่งปกติกรณีนี้จะใช้เมื่อยามใกล้เกิดภาวะสงคราม และระดับสุดท้ายคือ การระดมพล ทุกคนที่ถูกระดมพล จะต้องมารายงานตัวเพื่อพร้อมรบ”

“ยกตัวอย่าง ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร หรือพูดแบบภาษาชาวบ้าน คนที่เรียนจบ รด.หลักสูตร 3 ปีมา จัดอยู่ในระบบกำลังสำรอง ก่อนที่จะมีการเรียกพลคนเหล่านั้น จะมีเจ้าหน้าที่สอบถามไปยังผู้นั้นก่อน เมื่อเห็นว่าเหมาะสม จึงจะจัดส่งไปยังบัญชีบรรจุกำลังสำรอง ก่อนทำการเรียกพลบุคคลนั้น เป็นต้น”

“ในภาวะปกติ เทียบกับตามจำนวนทหารกองหนุน ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ปีละนับแสนนาย จะมีการเรียกพลแค่ประมาณ 15% เท่านั้น”

แหล่งข่าวบอกว่า สรุปแล้วอย่าไปวิตกเกินกว่าเหตุ ผู้ที่มีคุณสมบัติอยู่ในข่ายอาจถูกเรียกพล ยังคงปฏิบัติหน้าที่การงาน หรือทำมาหากินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวของตนได้ตามปกติ

“แม้จะมีกฎหมายใหม่ออกมา แต่เนื้อหาสาระหลักๆส่วนใหญ่ ยังคงเดิม ยกเว้นบางกรณีที่ล้าสมัย หรือของเดิมทับซ้อนกันอยู่ ได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยตามสถานการณ์และความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น” แหล่งข่าวทิ้งท้าย.

เรื่องน่าสนใจ