เนื้อหาโดย : โดดเด่นดอทคอม

อาการนอนไม่หลับ หรือ Insomnia คืออาการนอนหลับยาก/หลับไม่สนิท ซึ่งหากคุณประสบปัญหาอาการนี้ มันอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของช่วงเวลากลางวัน-กลางคืนได้ ทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย สมองเบลอ และเป็นปัญหาต่อการทำงาน

Depositphotos_22181099_s

คนส่วนมากมักเคยเกิดอาการนอนไม่หลับ 1-2 คืนเท่านั้นแต่หากใครที่เกิดอาการนอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 1 อาทิตย์ หรือ เป็นเดือนซึ่งส่วนมากมักพบในผู้หญิง และผู้สูงอายุ ควรเข้ารับการรักษาโดยด่วน

สาเหตุของการนอนไม่หลับ

  1. ความผิดปกติจากร่างกาย ได้แก่ มีอาการปวดท้อง ปวดตัว, ไม่สบาย หรือมีบาดแผล ที่ทำให้การนอนไม่สะดวก เพราะอาจไปกดทับหรือโดนจนรู้สึกเจ็บ
  2. ความผิดปกติจากสภาพจิตใจ เช่น อาการเครียด, เครียดเรื้อรัง, เกิดวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือ มีปัญหาชีวิตต่างๆที่รุมเร้า ทำให้ต้องใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา
  3. ความผิดปกติต่อสิ่งรอบตัว เช่น การไม่คุ้นเคยกับสถานที่, บรรยากาศการนอนไม่ดี มีสิ่งเร้ารบกวนมากเกินไป เช่น เสียงจากรถยนต์ หรือเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ต่างๆ, เสียงกรนจากคนที่นอนข้างๆ, แสงสว่างที่รบกวนการนอนเป็นต้น

sick woman on bed massaging her head to relieve pain or stress

ปัจจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิด อาการนอนไม่หลับขึ้นได้ เราสามารถแบ่งประเภทของการนอนไม่หลับเพื่อประเมินการรักษาออกได้ เป็น 3 ประเภท คือ

  1. การนอนไม่หลับแบบชั่วคราว คืออาการนอนไม่หลับแค่เพียงไม่กี่วัน อาจจะเป็นแค่ 1-2 วัน แต่ไม่ถึงขนาด ยาวถึงสัปดาห์ ซึ่งภาวะนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะความผิดปกติของสิ่งรอบตัว เช่น ไม่คุ้นกับสถานที่นอนใหม่ หรืออาจเกิดภาวะเครียด จากการเรียน-การทำงาน เป็นต้น ภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งยานอนหลับก็ได้ เพราะไม่กี่วันก็จะเริ่มผ่อนคลายลง
  2. การนอนไม่หลับ แบบระยะต่อเนื่อง คือ อาการนอนไม่หลับที่มากกว่า 1 สัปดาห์ สาเหตุนั้นมักมาจากอาการเครียดอย่างหนัก หรือภาวะเครียดเรื้อรัง เกิดการวิตกกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องเงินๆ ทองๆ ปัญหาครอบครัวที่แก้ไม่ได้ โดยทั่วไปแล้วภาวะนี้หากคลี่คลายลงได้ก็จะกลับมานอนได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรได้รับการรักษารับยานอนหลับจากแพทย์  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรัง
  3. การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง คือ กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของการนอนเกือบทุกคืน ยาวนานหลายๆเดือน บางรายไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปี ซึ่งสาเหตุซับซ้อน อาจเกิดจากภาวะผิดปกติทางสมองบางอย่าง หรือภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น การหายใจที่ผิดปกติขณะหลับ, ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก อาการปวดหรือเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มนี้ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน เพราะมีผลต่อชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน

ภาวะของ “อาการนอนไม่หลับ” มีผลกระทบหลายอย่างที่ไม่ดีต่อร่างกายในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น  เริ่มรู้สึกอ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง, สมองเบลอ ทำงานล่าช้า หรือผิดพลาดบ่อยครั้ง เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนได้ง่าย บางรายมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย ใบหน้าอาจเป็นสิวได้ง่าย ร่างกายและใบหน้าดูโทรม ขอบตาดำเป็นหมีแพนด้า ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

Housekeeper

1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายสามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้านหรือที่ทำงาน หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การออกกำลังกายต้องไปที่ “ฟิตเนส” หรือ “สวนสุขภาพ” ต่างๆทำให้ไม่มีเวลา ซึ่งโดดเด่นบอกได้เลยว่าไม่จำเป็น แค่อยู่ที่บ้านหรือ อยู่ที่ทำงานก็สามารถออกกำลังกายได้ เช่น การเดินขึ้นลงบันใด, การยกของหนักๆ หรือ การทำความสะอาดบ้านก็สามารถช่วยได้

2. อาหารการกิน เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยระหว่างการนอน เช่น ปวดท้องหรือท้องเสีย ควรใส่ใจกับอาหารที่มีประโยชน์ และสะอาดอยู่เสมอ

3. หากิจกรรมผ่อนคลาย หากเกิดภาวะเครียดจากเหตุการณ์ต่างๆ ควรรีบแก้ไข อย่าปล่อยให้เรื้อรัง หรือหากยังหาทางออกไม่ได้ ให้หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายตัวเองเสียก่อนแล้วค่อยกลับมาคิดหาทางออกอีกครั้ง เช่น การไปดูหนัง, ฟังเพลง, เล่นเกม รวมไปถึง การได้ตะโกนออกมาดังๆ ในที่นี้โดดเด่นขอแนะนำ หากใครมีเวลา ลองเที่ยวทะเลหรือ ภูเขา แล้วตะโกนให้สุดเสียง ระบายเรื่องเครียดๆออกมา หรือจะพากันไปร้านคาราโอเกะแบบห้องส่วนตัวก็ได้

4. งดดื่มชา,กาแฟและเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ต่างๆ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้เมีสารที่ตัวกระตุ้นให้สมองของเราทำงานอย่างหนัก ทำให้เรานอนไม่หลับ

5. เข้าพบปรึกษาแพทย์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่มีปัญหา เพื่อให้แพทย์ได้จ่ายยาที่เหมาะสม อีกทั้งยังได้ตรวจรักษาโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยที่เราไม่รู้ตัว หรืออาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ

สุดท้ายโดดเด่นอยากให้ทุกคนหันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น เพราะสภาพสังคมที่แข่งขันกันตลอดเวลา อีกทั้งยังมีมลพิษมากมาย ทำให้เกิดภาวะเครียดและโรคต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว พยายามสงบสติอารมณ์ ทำใจให้สบาย “การนั่งสมาธิ” ก็สามารถช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ แต่ที่สำคัญหากเกิดอาการหนักๆ อย่าพยายามรักษาด้วยตัวเอง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ข้อมูลจาก : healthdd, ศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาลงกรณ์, psyclin, Kapook

เรื่องน่าสนใจ