ปัจจุบันการเดินทางโดยเครื่องบินได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีความปลอดภัยสูงและค่าตั๋วมีราคาถูกลง แต่บางครั้งอาจทำให้ผู้โดยสารมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากการโดยสารเครื่องบิน นั่นคือ การเจ็บแน่นหู ปวดหู จนถึงอาการบาดเจ็บของหูจากการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศกะทันหันระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังเป็นหวัดหรือหวัดลงคอ ซึ่งถ้ารู้และเข้าใจที่มาของปัญหาและวิธีแก้ไขตามหลักที่ถูกต้องเราก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลหรือบรรเทาอาการก่อนมาพบแพทย์ได้

590754

 

ศูนย์วิจัยสุขภาพโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัญหาการเจ็บแน่นหูมักเป็นเรื่องกังวลใจต่อผู้เดินทางโดยเครื่องบินเป็นประจำ โดยเฉพาะลูกเรือและนักบิน บางคนแม้จะทำการปรับความดันในหูชั้นกลางด้วยวิธีต่าง ๆ

เช่น ทำ Valsalva maneuver คือ การเพิ่มความดันในบริเวณด้านหลังช่องปากและโพรงจมูกเพื่อเปิดท่อระบายอากาศที่เชื่อมต่อไปยังหูชั้นกลาง ซึ่งพบได้บ่อยว่าอาการปวดหูดีขึ้น แต่อาการแน่นหูก็ยังไม่หาย

การปรับความดันในหูมีหลายวิธีที่ใช้ได้ดี เช่น การอมลูกอมเพื่อกลืนน้ำลายบ่อย ๆ การเคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อเคลื่อนไหวกรามและกลืนน้ำลายจนถึงการทำ Valsalva เพื่อปรับแรงดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับแรงดันอากาศภายนอก

ซึ่งหากปล่อยจนความดันอากาศแตกต่างกันมาก เช่น เผลอนอนหลับไประหว่างเครื่องบินลดระดับลงจนเกิดอาการปวดหูการใช้วิธีปกติอาจไม่ได้ผลจะต้องแก้ไขด้วย Valsalva ก่อนที่จะเกิดการบาดเจ็บในหูชั้นกลาง

นอกจากนี้การทำ Eustachian Tube โดยการหายใจเข้า กลั้นหายใจแล้วใช้นิ้วมือปิดจมูก ปิดปากให้แน่นแล้วเบ่งลมหายใจออกให้อากาศถูกดันไปหูชั้นกลาง จนได้ยินเสียงเปิดท่อ (Ear popping) แล้วกลืนน้ำลาย แรงดันจะถูกปรับให้ดีขึ้น อาการปวดหูก็จะดีขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อเราเดินทางโดยเครื่องบิน ขณะเครื่องบินไต่ระดับสูงขึ้น แรงดันบรรยากาศภายนอกจะน้อยกว่าในหูชั้นกลาง อากาศจึงไหลออกได้ง่าย ตรงกันข้ามเมื่อเครื่องลงแรงดันในหูชั้นกลางน้อยจึงไม่สามารถดันอากาศจากภายนอกได้ การไหลของอากาศออกจากหูไปที่หลังโพรงจมูกจะทำได้ง่ายกว่า

ซึ่งการไหลของอากาศเข้าสู่บริเวณหูชั้นกลาง ลักษณะคล้าย ๆ วาล์วอากาศทางเดียว ดังนั้นเวลาอากาศขยายตัว (แก้วหูโป่งออก) ตอนเครื่องบินไต่ระดับขึ้นจึงไม่ค่อยมีปัญหาเท่ากับตอนลดระดับลงสู่พื้น (แก้วหูยุบตัว)

ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีช่วยเปิดท่อ Eustachian Tube โดยวิธีต่าง ๆ เช่น อ้าปากหาว ปิดจมูกพร้อมกลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่งและกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ฯลฯ โดยต้องทำไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนหรือเริ่มมีอาการแน่นหู

อย่ารอจนมีอาการปวดหูแล้วค่อยทำ เพราะความดันที่ต่างกันมากขึ้นจะเปิดท่อระบายอากาศได้ยากขึ้น ต้องทำ Valsalva ช่วยเปิดทางระบายอากาศเข้าสู่หูชั้นกลางจะต้องทำ 2-3 ครั้งและให้กลืนน้ำลายตามด้วยทุกครั้ง ใช้สำหรับช่วยปรับแรงดันอากาศหูชั้นกลาง

เมื่อท่อ Eustachian Tube อุดตัน เป็นการเบ่งลมหายใจออกไปที่หูพร้อมกับปิดปากและจมูก เพื่อเพิ่มความดันภายในบริเวณหลังโพรงจมูกและช่องปากให้มีการเปิดของท่อระบายอากาศไปสู่หูชั้นกลางเป็นการปรับความดันอากาศให้สมดุลและกลืนน้ำลายตามด้วยทุกครั้ง

คนที่คิดวิธี Valsalva ขึ้นมาคือ นาย Antonio Maria Valsalva แพทย์ชาวอิตาลี ในศตวรรษที่ 17 เป็นการทดสอบการปิด-เปิดของท่อ Eustachian Tube (และยังใช้วิธีนี้ในการขับเอาหนองออกมาจากช่องหูชั้นกลางอีกด้วย)

จากการที่ปัญหาของอาการแน่นปวดหูที่มักจะเกิดมีปัญหาช่วงเครื่องบินลดระดับลง สภาพของเยื่อแก้วหูจะถูกความดันอากาศที่สูงขึ้นกดให้เยื่อแก้วหูยุบตัวลงไป โดยที่การไหลของอากาศจากภายในช่องปากเข้าสู่ด้านในของหูชั้นกลางจะต้องออกแรงอัดอากาศช่วยเปิดท่อ Eustachian Tube ให้อากาศผ่านเข้าสู่หูชั้นกลางปรับสมดุลความดันซึ่งใช้ได้ผลมาเป็นอย่างดี

แต่เนื่องจากการอัดอากาศเข้าไปในหูชั้นกลางผ่านท่อ Eustachian Tube มีโอกาสทำให้อากาศค้างอยู่ในหูชั้นกลางได้ มีอาการหูอื้อ แต่ไม่เกิดอันตรายแล้ว ให้กลืนน้ำลายช่วยเปิดท่อได้ อาการหูอื้อจะดีขึ้น

หรือบางครั้งเครื่องบินตกหลุมอากาศหรือลดระดับลงอย่างรวดเร็วจนคนธรรมดาก็ปรับแรงดันได้ยาก ยิ่งคนที่มีอาการหวัด คัดจมูก ท่อ Eustachian Tube จะบวมอยู่ อาจเกิดแรงดันลมในหูอย่างรวดเร็วเกินไปจนแก้วหูถูกกระชาก เลือดออกบนแก้วหู หรือในหูชั้นกลางได้ และหากมีอาการปวดมากต้องรีบพบแพทย์

ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาพบแพทย์เรื่องปวดแน่นหูพบว่าเป็นลูกเรือ พนักงานบนเครื่องบินที่เป็นไข้หวัดไม่มาก กินยาอยู่ไม่อยากพักหรือลาพักไม่ได้ต้องไปทำงานบนเครื่อง แม้จะกินยาแก้หวัด ลดบวม ลดน้ำมูกและใช้ยาพ่นจมูกลดอาการบวมของท่อ Eustachian Tube แล้ว

และได้ทำ Valsalva ปรับความดันหลายครั้งก็ยังมีอาการปวดแน่นหูอยู่ หลังจากตรวจดูพบว่าเยื่อแก้วหูขยายดันออกมาแต่ไม่มีอาการอักเสบ แสดงว่าน่าจะมีอากาศค้างอยู่ภายในช่องหูด้านในหลังจากทำ Valsalva ซึ่งจะมีอาการหูอื้อมากกว่าปวดหู

เพราะความดันได้ปรับสมดุลแล้ว จึงอธิบายให้คนไข้เข้าใจและแนะนำให้อ้าปากหาว กลืนน้ำลายพร้อมกับปิดจมูก ให้อากาศระบายออกมา หรืออาจจะดึงหูพร้อมกับเอียงศีรษะข้างที่อื้อขึ้นเพื่อช่วยยืดท่อ Eustachian Tube ให้ระบายลมได้ดีขึ้น

หลังจากทำแล้วคนไข้จะได้ยินเสียงแก้วหูขยับและอาการหูอื้อดีขึ้น ลองตรวจซ้ำพบว่าแก้วหูยุบตัวลง แสดงว่าอากาศระบายออกไปบ้างแล้ว จากนั้นได้ให้ยาลดบวมรับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน ซึ่งการทำ Valsalva จะไม่ช่วยเลยในกรณีนี้เพราะอาการหูอื้อยังไม่ดีขึ้นและอาจทำให้อากาศเข้าไปค้างในหูชั้นกลางเพิ่มขึ้น

กรณีที่คนไข้รอดูอาการเองที่บ้านโดยไม่ทำ Valsalva ซ้ำ ๆ ส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองภายใน 1-2 วัน เพราะอากาศจะถูกระบายออกเองทีละน้อย ๆ แต่หากไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์โสต ศอ นาสิก เพื่อแยกแยะสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อหูชั้นกลางอักเสบ การบาดเจ็บจากความดันอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้นอาการผิดปกติที่หูจากการโดยสารเครื่องบินในสภาวะที่ร่างกายปกติไม่ได้เป็นภูมิแพ้หรือเป็นหวัด การปรับความดันให้สมดุลในช่องหูช่วยเปิดท่อ Eustachian Tube ด้วยวิธีง่าย ๆ

 คือการเคี้ยวหมากฝรั่ง การอ้าปาก หรือปิดจมูกพร้อมกลืนน้ำลาย น่าจะเพียงพอแล้ว ยกเว้นกรณีที่แก้ไขไม่ได้จริง ๆ จึงใช้วิธี Valsalva ช่วย แต่อย่าพยายามทำวิธี Valsalva ซ้ำ ๆ เพราะจะไม่ช่วยอะไรให้ทำวิธีง่าย ๆ ก่อนเพื่อเปิดท่อช่วยระบายอากาศที่ค้างอยู่จะดีกว่า หากเรารู้หลักการปรับความดันในช่องหูแล้วหวังว่าปีใหม่นี้จะทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินราบรื่นไม่เกิดความกังวลใจ ถึงแม้ว่าจะป่วยเป็นหวัดแล้วต้องเดินทางโดยเครื่องบินก็ตาม

ที่มา เดลินิวส์

เรื่องน่าสนใจ