“เมื่อประมาณเจ็ดปีที่แล้ว คำพิพากษาจากกรณีผ่าตัดไส้ติ่งที่ร่อนพิบูลย์ ได้สร้างปรากฏการณ์ “ปิดห้องผ่าตัด” ตามโรงพยาบาลชุมชนแทบทุกแห่ง เรื่องเกิดขึ้นจากแพทย์ท่านหนึ่งทำการบล็อคหลังระงับความรู้สึกให้คนไข้ เพื่อทำการผ่าตัดไส้ติ่ง แล้วเกิดโททัลบล็อค คนไข้หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ศาลตัดสินว่าแพทย์ผิด ที่ไม่ระมัดระวังทำให้ยาชาเกินขนาด

22

และผิดที่ไม่ใช่     “วิสัญญีแพทย์”แล้วไปทำ ขาดความระวัง ทำไมไม่ปรึกษาวิสัญญีแพทย์ ก่อนกระทำการโดยประมาทร้ายแรง

ครับ… อย่างที่ทราบ โรงพยาบาลชุมชนที่ไหนมันจะมีวิสัญญีแพทย์ (หมอดมยา) เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อคำพิพากษาออกมารูปนี้ ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนจึงแทบจะถูกปิดไปโดยปริยาย ใครมันจะไปอยากเสี่ยงละครับ ตั้งใจจะช่วยคน แล้วติดคุก (แบบไม่รอลงอาญาด้วย)

จึงได้เห็นมหกรรมส่งเคสไส้ติ่ง ผ่าตัดคลอด หรือเคสผ่าตัดที่เคยทำได้ตามโรงพยาบาลชุมชน ทุกเคส เข้าเมือง คนไข้ก็ไปกองกันเต็มโรงพยาบาลจังหวัด อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เจ็ดปีผ่านไป ก็มาเกิดคดีสั่นสะเทือนโรงพยาบาลชุมชนอีกครั้ง คราวนี้ หวยไปออกที่ … ห้องคลอด

12

เมื่อฝันร้ายที่สุดอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีใครอยากเจอในศาสตร์ของสูติกรรม นั่นคือ “การคลอดติดไหล่” เกิดขึ้น ภาวะที่จัดเป็นภาวะฉุกเฉิน และเป็นภาวะเสี่ยงในระดับที่ สูติแพทย์บางคนยังต้องส่ายหัวพร้อมบ่นพึมพำว่าซวยแล้ว แต่คราวนี้ ความซวยแล้ว ดันไปเกิดที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งไม่มีสูติแพทย์ ซึ่งก็เหมือนกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วไป ที่คนอยู่เวรดูแลก็คือ หมอ GP ธรรมดาๆนี่แหละ ดูมันทั้งโรงบาล

แล้วก็เหมือนกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วไป คือคนทำคลอดหลักๆก็คือ พยาบาลผดุงครรภ์ ที่ต้องยอมรับว่า ทำคลอดมาอย่างโชกโชนมากกว่าหมอซะอีก โดยเฉพาะหมอใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนนี่แหละครับ เทียบฝีมือการทำคลอด พูดตรงๆ ไอ้คนเขียนก็สู้ไม่ได้ครับ

 เมื่อเกิดการคลอดติดไหล่ คนทำคลอดก็แก้ปัญหาตามประสบการณ์ และเมื่อไม่ได้ก็ตามแพทย์มา แพทย์ก็รีบช่วยเด็กให้คลอดออกมา จนออกมาได้ แต่โชคร้าย มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดคือโดนเส้นประสาท ยกไหล่ไม่ขึ้น ฟังๆ ดูถ้าอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชน ก็คงรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ปกติที่เกิดได้

แต่ศาลไม่คิดเช่นนั้น …. คำถามแรกที่ถูกตั้งจากคำพิพากษาคือ “คลอดติดไหล่เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ แพทย์ต้องเป็นผู้ทำคลอด ทำไมพยาบาลไม่ตามแพทย์?” เป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรง

ครับ “ฉุกเฉิน” คืออะไร … ไม่ใช่ว่าถ้าไม่รีบช่วย เด็กจะตายรึเปล่า ? ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ถึงเรียกว่าฉุกเฉิน แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น คำถามคือ นี่เป็นภาวะที่รอได้? โทรตามหมอมาก่อน ปล่อยเด็กคาตรงนั้น ไม่รู้จะขาดอากาศหายใจมั้ย หรือจะช่วยก่อน เพราะก็มีประสบการณ์อยู่

ถ้าเลือกรอหมอ…. โรงพยาบาลชุมชนหลายๆที่ มีหมออยู่คนเดียว ดูแลทั้งห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วย ห้องคลอด แล้วถ้าตอนนั้น หมอก็ติดเคสอยู่ที่อื่น เช่น กำลังใส่ท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ หรืออะไรที่มันฉุกเฉินอยู่ แล้วมันจะแยกร่างได้ยังไง?

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้นะครับ และบ่อยมากด้วย บ่อยถึงขนาดต้องเอามาออกข้อสอบปฏิบัตินิสิตแพทย์ตลอด ว่าถ้าเจอแบบนี้จะทำยังไง อีตอนสอบทุกคนก็เล่นใหญ่เต็มที่ล่ะครับ (ตามคอนเซปต์ osce = oscar เล่นเวอร์ๆไว้ ได้คะแนนเยอะ) แต่ชีวิตจริง เจอของจริง คนมากดดันด้วยอารมณ์โกรธจริง มันยากกว่าตอนสอบเยอะ

เลือกทำเอง แน่นอนครับว่ามันก็เสี่ยง เสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเมื่อชั่งดูแล้ว เทียบกับเด็กตายคาที่ ใครก็น่าจะเลือกทางหลังมากกว่ามั้ย ?

คำถามที่สองที่ถูกตั้งขึ้นมาคือ การช่วยคลอดของแพทย์ ทำเร็วไปรึเปล่า โน้มศีรษะสามครั้ง ในเวลาไม่ถึงสามสิบวินาที ทำให้เด็กบอบช้ำ

ครับ ถ้าเรา วนกลับไปจุดเดิมที่ว่า นี่คือภาวะฉุกเฉิน เป็นเรื่องของชีวิตเด็ก คนที่ทำทำไปด้วยเจตนาอะไร? .. ก็เพื่อช่วยชีวิตเด็ก มีใครอยากให้มันเกิดภาวะคลอดติดไหล่ มีใครอยากให้เด็กคลอดออกมา ยกไหล่ไม่ได้ .. ก็ไม่น่าจะมี คำตัดสินที่ว่า แม้มันจะฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ควรรีบ (ย้ำ ฉุกเฉิน แต่ไม่ควรรีบ??) มันจึงรู้สึกเจ็บปวดต่อคนทำงานมากพอสมควร

ทีนี้เมื่อมันออกมาในรูปแบบนี้ เราก็ต้องเคารพการตัดสินของศาล แต่สิ่งที่อาจจะตามมา มันคืออะไร ??

– โรงพยาบาลชุมชนปิดห้องคลอด ไม่ทำคลอด ทำไปก็เสี่ยง ใครจะไปรู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดกับตัวเองมั้ย แล้วถ้าเกิด แล้วถ้ามันเกิดผลแบบนี้ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คงไม่มีใครอยากทำ เพราะฉะนั้น รีเฟออออ เอาเคสไปกองที่ รพ ที่มีสูติแพทย์

– พยาบาลเลิกทำคลอด ทำทำไม ในเมื่อทำแล้วเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นมา ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะแพทย์ต้องเป็นคนทำเท่านั้น

– ต้องมีสูติแพทย์อยู่เวรเฝ้าห้องคลอด ตลอดเวลาเพื่อพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้น (เหมือนเคส amniotic fluid embolism หรือน้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด เมื่อไม่กี่ปีก่อนที่มีการตั้งคำถามว่า ทำไมแพทย์ไม่อยู่กับคนไข้ตลอด) มีเคสผ่าตัดคลอด c/s ก็ไม่ต้องทำ เคส ectopic มาก็ไม่ต้องทำ เฝ้าไป อย่างนั้นเหรอ

– หมอทั้งหลาย เรียนต่อด้านสูตินรีเวชน้อยลง หมอสูติเองอาจลาออกมากขึ้น เสี่ยงขนาดนี้ ทำดีเสมอตัว พลาดมา จ่ายเงินกับคุก เกิดเป็นแบบนี้แล้ว ใครลำบาก ก็หนีไม่พ้นคนไข้เองนั่นแหละครับ ต้องเดินทาง ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ส่วนหมอหรือพยาบาลเอง มันเจ็บปวด มันหมดกำลังใจพอสมควรแล้วแหละครับ….

แค่เด็กออกมา แล้วมีความผิดปกติ มันก็เจ็บปวดพอแล้ว ….

แต่ยังถูกตราว่า ประมาทเลินเล่อ ไม่ระมัดระวัง ทั้งๆที่ก็ทำทุกอย่างสุดความสามารถแล้ว มันยิ่งเจ็บปวดอีกหลายเท่า ..

ยังย้ำคำเดิมครับ ไม่มีใครต่อสู้เหน็ดเหนื่อยเรียนมาตั้งหลายปี เพื่อมาฆ่าคน หรือทำให้คนพิการหรอกครับ เจอแบบนี้ คงไม่ต้องถามต่อนะครับ ทำไมหมอถึงลาออก หมอถึงขาดแคลนแบบทุกวันนี้….”

Cr. มิตรสหายท่านหนึ่ง

 

เรื่องน่าสนใจ