ที่มา: Matichon Online

ในอดีตกาลที่ผ่านมา ชาวไทยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงตามดอยต่างๆ มักจะมีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย อพยพบุกเบิกพื้นที่ตามภูเขาเพื่อทำไร่ข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกฝิ่น เพื่อเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว เมื่อพื้นดินเสียไม่สามารถทำไร่ต่อไป ต่างพากันอพยพไปหาที่ดินใหม่ ทำลายป่าไม้อย่างมหาศาล กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทำโครงการพระราชดำริต่างๆ ขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ลำบากไม่มีที่ทำกิน และจะได้ไม่ต้องไปทำลายป่าไม้เพื่อทำไร่เลื่อนลอยต่อไป มีอาชีพใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืน โครงการพระราชดำริต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย เป็นการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้มีที่ทำกินอย่างดียิ่ง

01

นายบุญธรรม บุญเลา ผอ.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยสะโง๊ะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่หมู่บ้านดอยสะโง๊ะ มีชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า (อีก้อ) อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ และยังมีชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่ อาศัยรวมอยู่บ้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับชายแดนอีก 2 ประเทศ คือ สปป.ลาว และเมียนมา เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่นี้ ทรงมีพระราชดำริกับหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยพัฒนาพื้นที่นี้ให้มากขึ้น และได้ทรงมีพระราชดำริอีกครั้ง เมื่อเสด็จในปี 2522 ให้หาทางช่วยเหลือชาวบ้านดอยสะโง๊ะ ซึ่งยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจน เข้ามาส่งเสริมอาชีพการเกษตร เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ในรูปของงานอาสาพัฒนาชาวเขา ตามพระราชดำริ ดำเนินงานโดยมูลนิธิโครงการหลวง

02

นายบุญธรรมกล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ให้แนวทางในการพัฒนาโครงการว่า จะต้องจัดส่งเจ้าหน้าที่และนักวิชาการเข้ามาประจำในพื้นที่ ทำให้เป็นแหล่งถ่ายทอดวิทยาการการเกษตรแผนใหม่ เพื่อสนับสนุนด้านเกษตรกรรม แก่หน่วยงานและสถาบันเกษตรกร ต้องมีไร่ฝึกอบรมนักศึกษาเกษตร ให้มีความชำนาญในการปฏิบัติงานดูแลพืชและสัตว์บนพื้นที่สูง เพื่อเป็นแนวทางประกอบอาชีพ ต้องลดปัญหาทางด้านยาเสพติด สร้างความมั่นคงให้กับหมู่บ้านชายแดนไทย-ลาว และไทย-พม่า โดยเฉพาะชุมชนสังคมหมู่บ้านดอยสะโง๊ะ มีหมู่บ้านในเขตความรับผิดชอบ จำนวน 4 หมู่บ้าน รวม 139 ครอบครัว ประชากร 630 คน การส่งเสริมระยะแรก ได้เน้นการปลูกพืชไร่ที่ราษฎรมีความถนัดอยู่แล้ว เน้นโครงการให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชด้วยการให้ยืม เมื่อได้ผลผลิตจึงคืนเมล็ดพันธุ์ และเมื่อขายผลผลิตก็คืนค่าปุ๋ย และค่ายากำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุด ตามพระราชปณิธานที่ให้ไว้

ว่าที่ ร.ต.นพพล คำเขียว หน.โครงการศูนย์พัฒนาโครงการหลวง กล่าวว่า ระยะแรกที่นำโครงการหลวงมาลงในพื้นที่นี้ ไม่มีแหล่งต้นน้ำลำธาร ไม่มีป่าไม้ บนภูเขา ต้นไม้ถูกตัดทำลาย จนกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เกษตรกรในพื้นที่ ต้องอาศัยน้ำซึมจากดอยสะโง๊ะที่กักเก็บไว้ เมื่อปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ไม่เพียงพอ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ต้องมาติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำ บริการเกษตรกร เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยใช้ระบบน้ำหยดกับพืช ส่วนของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ใช้แปลงสาธิตเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรนั้น ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ได้รับน้ำอย่างเพียงพอและเหมาะสม

03

รวมทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเพื่อรักษาต้นน้ำลำธารนั้น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ได้ดำเนินการร่วมกับราษฎร ขอพันธุ์ไม้จากกรมป่าไม้ นำไม้โตเร็วเข้ามาปลูกเสริม และสร้างความรู้ความเข้าใจ ถึงความสำคัญของป่าไม้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างจริงจัง และให้ทุกคนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกป่า ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรกรรมให้ใช้ได้พอเพียงตลอดทั้งปี

ว่าที่ ร.ต.นพพลกล่าวต่อว่า เนื่องจากพื้นที่ในความรับผิดชอบ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ อยู่ติดกับสามเหลี่ยมทองคำ มีชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว และ เมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ของจังหวัดเชียงราย มีการบุกรุกทำลายป่า จนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าที่สมบูรณ์เหลืออยู่น้อยเต็มที ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ได้ให้ความรู้แก่ราษฎรถึงประโยชน์ของป่าไม้ และควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ตลอดจนได้ให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเกษตรกร และส่งเสริมให้ปลูกไผ่ฟิลิบปินส์ เปลวเทียน ได้นำพันธุ์ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่มาลงแปลงปลูก พร้อมพัฒนาการใช้ระบบน้ำหยดเข้ามาช่วย จนเป็นแหล่งสำคัญที่ผลิตไผ่ฟิลิบปินส์ออกสู่ตลาด และทำรายได้ให้กับ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ และราษฎรในพื้นที่เป็นรายได้หลักได้อย่างแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ในความรับผิดชอบ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ อยู่บนดอยไม่สูงชันมาก การเดินทางสะดวก จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวดังไปทั่วโลก ในฤดูหนาว มีทะเลหมอกที่สวยงามยิ่งปกคลุมไปทั่วทั้งชายแดน 3 ประเทศ มายืนอยู่บนดอยสะโง๊ะ สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้รอบทิศ 360 องศา

นอกจากนี้ ยังสามารถเที่ยวชมดอยตำนานประวัติศาสตร์ดอยช้าง ดอยงู ร่องรอยป้อมปราการสมัยโบราณบนยอดดอย วิวดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ วิวเทือกเขาดอยนางนอน ชมทะเลหมอกในยามเช้า วิวสายน้ำโขง ประเทศลาวและพระธาตุเขานางคอย ลงเรือชมน้ำโขงประเทศพม่าและประเทศลาว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองที่นับถือพุทธ ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าอาข่าและศึกษาพิพิธภัณฑ์อาข่าประเพณีปีใหม่ (กินวอ) พิธีกรรมไล่ผีร้าย งานศิลปะการเย็บผ้าอาข่า งานฝีมือของที่ระลึกต่างๆ ชมพิพิธภัณฑ์อาข่า

เรื่องน่าสนใจ