เผาเทียนเล่นไฟ ณ เมืองสุโขทัย ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกําเนิดของประเพณีลอยกระทง ตามตํานานกล่าวไว้ว่า เดิมในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอย ซึ่งในสมัยโบราณเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียง ชายหญิงต่างตกแต่งโคมชัก โคมแขวน โคมลอยทั่วทั้งพระนคร และจัดงานมหรสพกันอย่างครื้นเครง

 

เผาเทียนเล่นไฟ
ภาพจาก khorngngankhxmphiwtexr

 

ซึ่งบรรดาขุนนางข้าเฝ้าฝ่ายชายนั้น จะประดิษฐ์โคมประทีป วาดเขียนลวดลายวิจิตรตระการตา ประกวดประชันกันโดยการชักโคมแขวน ตามแนวโคมชัยเสา เป็นระเบียบเรียงราย บริเวณหน้าพระที่นั่งชลพิมาน เพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระราชอุทิศสักการะ พระมหาเกศธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายพระสนมกํานัน ก็ทําโคมลอย ร้อยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกัน ถวายให้ทรงอุทิศเป็นพุทธบูชา

ครั้นถึงเวลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้า เสด็จลงพระที่นั่งชลพิมานพร้อมด้วยอัครชายา พระบรมวงศ์ และพระสนมกํานัน พราหมณ์ก็ถวายเสียงสังข์อันเป็นมงคล เป็นสัญญาณให้ทําการชักสายโคมชัย โคมประทีบบริวารขึ้นโดยพร้อมกัน นางนพมาศ พระสนมเอกได้ประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อถวายให้ พระร่วงเจ้า ทรงทอดพระเนตรอุทิศบูชาพระพุทธบาท สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยมาก พลางตรัสชมว่า โคมลอยอย่างนี้ งามประหลาด ยังหาเคยมีไม่ จึงรับสั่งให้ทําโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาท

เผาเทียนเล่นไฟ
ภาพจาก twitter.com

 

“ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลําดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกําหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทําโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที่ตราบเท่ากัลปาวสาน” จากข้อความดังกล่าว จึงสันนิฐานว่า นางนพมาศ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกในสมัยสุโขทัย นับเป็นตํานานแห่งการเริ่มต้นของประเพณีลอยกระทงตราบจนปัจจุบัน

ในปัจจุบัน การจัดงานเทศกาลลอยกระทงของจังหวัดสุโขทัย ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง เรียกว่า ประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ มีการจัดงานยิ่งใหญ่ตระการตา มีการแสดงแสง สี เสียง ที่ยังคงกลิ่นอายของ พระราชพิธีจองเปรียง ไว้ให้ลูกหลานได้หวนคิดถึง โดยจําลองบรรยากาศงานให้คล้ายคลึงกับเทศกาลลอยกระทงในสมัยกรุงสุโขทัย รวมทั้งการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง โคมชักโคมแขวน การจัดแสดงขบวนเรือในตํานานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และยังมี การอนุรักษ์ธํารงไว้ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า เช่น การจําลองวิถีชีวิตสมัยสุโขทัย การจัดกิจกรรมชุมชนโบราณ ตลาดโบราณ การละเล่นพื้นบ้าน ฯลฯ

………………………………………………..

ประเพณีลอยกระทงของชาวสุโขทัยนี้ นับว่าเป็นเอกลักษณ์ ของท้องถิ่นที่หาชมที่ไหนไม่ได้ โดยเฉพาะความงดงามของสถานที่จัดงาน ซึ่งถูกเนรมิตขึ้นบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่อบอวลไปด้วยความรู้สึกอบอุ่น สะท้อนให้เห็นความเป็นไทยอย่างแท้จริง

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

เรื่องน่าสนใจ