อาณาบริเวณหลังวัดพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ คือที่อยู่ของอดีต “สัตว์เลี้ยงผู้น่ารัก” บางตัวเคยอยู่คฤหาสน์หรู บ้านสวยงาม ทาวน์เฮาส์แคบๆ และบ้านหลังเล็กๆ เมื่อเจ้าของสิ้นรัก แต่ละตัวจำต้องมารวมกันอย่างไม่เต็มใจ
“เราเลี้ยงหมาไว้ราว 1,300 ตัว และแมวราว 300 ตัว” นางสาวอัยลดา มอมุงคล หรือปุ๊ก อายุ 34 ปี บอกพลางตวาดเจ้าสี่ขาที่เข้ามาทักทาย บางตัวกระดิกหาง บางตัวกระโจนใส่ราวกับว่าเคยรู้จักกันมาก่อน ขณะที่บางตัวส่งเสียงเห่าอยู่ห่างๆ เหมือนดูเชิงว่าผู้มาเยือนจะมาไม้ไหนกันแน่ “ไม่ต้องกลัว มันไม่กัดหรอก” คุณปุ๊กเสริม ก่อนบอกว่าแต่ละตัวมาจากหลายสถานที่ บางตัวเป็นหมาพันธุ์ดีแสนรู้ ขณะที่บางตัวก็ถ่อยเถื่อน แต่อย่างไรรับรองว่าไม่กัดคน
เมื่อถามว่ามันเดินทางมาอย่างไร คำตอบคือมีคนแอบมาปล่อยไว้ที่วัด ข้างถนน และบริเวณใกล้เคียง “เราไม่เคยประกาศรับเลี้ยง คนเอาหมามาปล่อยเอง เมื่อเราเห็นก็สงสาร จะปล่อยให้มันอดตายได้อย่างไร”
ด้วยความเป็นคน “ใจอ่อน” จึงต้องดูแลทั้งหมาและแมวรวมแล้วใกล้ 2,000 ตัว
“ที่น่าสงสารคือ เอาแมวใส่กระสอบมาโยนทิ้งไว้ หมาเห็นเข้ามันก็กัดตายไปเยอะ ส่วนหมาบางตัวโยนลงมาเราไม่ทันเห็นรถก็ชนตาย” ครั้นเอาเข้ามาในที่เลี้ยงดูแล้ว “เราต้องขังเอาไว้ก่อน ถ้าปล่อยไปเลยหมาตัวที่มันมาอยู่ก่อนจะกัด เราต้องขังไว้จนมันชินกันก่อนถึงปล่อยออกมารวมกันได้”
การเลี้ยงดู ต้องจ้างลูกน้องถึง 8 คน ให้ค่าแรงวันละ 300 บาทเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ละวันคนเลี้ยงหมาต้องทำอะไรบ้าง เธอบอกว่าเช้ามาต้องทำความสะอาดที่อยู่ให้ประดาน้องๆสี่ขา ระหว่างนั้นต้องดูด้วยว่ามีตัวไหนบาดเจ็บจากการกัดกันหรือไม่ ป่วยหรือไม่ ถ้าพบต้องรายงานหัวหน้างาน เพื่อพิจารณารักษาต่อไป ทำความสะอาดที่อยู่เสร็จแล้ว เวลาประมาณ 14.00 น.ทุกวันต้องให้อาหาร
“เราให้อาหารวันละ 1 ครั้งเท่านั้น อาหารหมาวันละ 200 กิโลกรัม ส่วนอาหารแมวให้ปลาทูวันละ 10 กิโลกรัม รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งอาหารและค่าแรงแล้ววันละประมาณ 10,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 300,000 บาท” เงินเดือนละ 3 แสนท่ามกลางป่าเขาเอามาจากไหน คำตอบคือจากการบริจาคทั้งสิ้น หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ดำเนินการเรื่องนี้คือ ป้าสำรวย โตพฤกษา แม้เดี๋ยวนี้ป่วยต้องเข้ามารักษาตัวกับญาติที่จังหวัดนนทบุรี แต่ยังเป็นหัวแรงสำคัญในการช่วยเหลือ “เพื่อนร่วมโลกสี่ขา” อย่างแท้จริง
คุณปุ๊กปัจจุบันทำหน้าที่เป็น “หัวหน้า” งาน ดูแลลูกน้องและบรรดาเจ้าสี่ขาทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ต้องรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลกิจการแทนป้าสำรวยไปพลางๆ ประวัติเธอน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นคนบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ดินแดนนี้เลื่องชื่อเรื่องอาหารการกินชนิดแปลก
“เราถูกเอาเนื้อหมายัดใส่ปากมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้นเราก็ไม่ได้กินแล้ว และยิ่งได้มาอยู่ ได้มาคลุกคลีช่วยเหลือป้าสำรวยก็ยิ่งสงสาร” สาเหตุที่ป้าสำรวยวางใจให้คุณปุ๊กเป็นเดี่ยวมือหนึ่งดูแลแทนไม่ใช่เพราะเธอเลิกกินหมา แต่เพราะเธอช่วยป้าสำรวยมาแล้ว 9 ปี จึงมีความชำนาญเกี่ยวกับการดูแลทุกเรื่อง รวมไปถึงธุรการต่างๆ อาทิ การนำหมาไปรักษา และการนำเข้ามาดูแล เป็นต้น
เธอบอกว่า หมาที่เข้ามาใหม่ๆนั้น ส่วนใหญ่เป็นลูกหมาอาจเป็นเพราะว่าคนเลี้ยงพ่อแม่หมาเอาไว้ เมื่อออกลูกมาอีก ทำให้เพิ่มภาระเลี้ยงดู ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำ จึงนำมาปล่อยทิ้ง “อยากจะบอกเลยว่า ถ้าคุณจะเลี้ยงหมาก็ขอให้เลี้ยงให้ถึงที่สุด คือให้ล้มตายกันไปข้างหนึ่ง ไม่ใช่เลี้ยงแล้วเบื่อ หรือเลี้ยงไม่ไหวก็เอามาทิ้งกลายเป็นภาระคนอื่น”
เจ้าของเดิมเบื่อแล้ว บางคนมีภาระแค่ใส่กระสอบมาโยนทิ้ง เท่ากับโยนปัญหาให้กับสังคมรับภาระต่อไป ส่วนเจ้าสี่ขาถ้าไม่โดนรถชนตาย ไม่เตลิดไปถิ่นอื่น ผู้ไม่ต้องการรับภาระอย่างวัดและสถานดูแลอย่างไรก็ต้องเห็นแก่เพื่อนร่วมโลก
ค่าใช้จ่าย “เมื่อก่อนหลวงตามหาบัวท่านช่วยเหลือ พอเลี้ยงหมาได้อย่างไม่ขัดสน แต่เมื่อท่านมรณภาพไปเงินส่วนนี้ก็ถูกตัดไป ต้องหาจากการบริจาคอย่างเดียว ทำให้เราเป็นหนี้เป็นสินอยู่ไม่น้อย อย่างปัจจุบันเราเป็นหนี้อยู่ 3 แห่งคือ ค่าอาหาร 30,000 บาท ค่ารักษาที่หนึ่ง 30,000 บาท และอีกที่หนึ่ง 60,000 บาท”
เรื่องเงินบริจาค คุณปุ๊กบอกว่า เมื่อก่อนเศรษฐกิจดีมีคนบริจาคพอสมควร สามารถนำเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนได้ แต่เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้คนบริจาคน้อยลงไป จึงไม่แน่ใจว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดอะไรขึ้นกับหมาและแมวเกือบ 2,000 ชีวิต
เมื่อถามว่า โอกาสที่หมาและแมวจะลดลงมีหรือไม่ คุณปุ๊กบอกว่า “เมื่อ 9 ปีที่แล้วเข้ามาอยู่กับป้าสำรวยมีหมาอยู่ 800 ตัว แล้วก็เพิ่มมาตลอด ปัจจุบันหมาราว 1,300 ตัว แสดงว่าโอกาสลดยากมาก คนมาทิ้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในที่ที่เราเลี้ยงนี้จะไม่เพิ่ม เพราะเราทำหมันหมดทุกตัว”
ความต้องการช่วยเหลือมีอะไรบ้าง คำตอบคือ 1.บริจาคอาหาร แต่ละวันต้องใช้มาก 2.ช่วยเงินเข้ามาทางป้าสำรวย เพื่อใช้ในการดูแลด้านธุรการต่างๆ อย่างค่าแรงงาน ค่ารักษาพยาบาล 3.หนังสือพิมพ์เก่าๆ 4.น้ำยาล้างจาน
น้ำยาล้างจานนั้นต้องใช้มาก เพราะว่าจานอาหารเจ้าสี่ขาต้องล้างทุกวัน บางตัวถ้าจานไม่สะอาดก็เกิดอาการไม่ปลื้ม เพราะว่าเคยได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี
หลังการสนทนาคุณปุ๊กได้พาเข้าไปดูภาพชีวิตของเจ้าสี่ขา เดินเข้าไปในอาคารเห็นแบ่งออกเป็นล็อกๆ ล็อกแรกๆ เป็นที่อยู่ของเจ้าเหมียว แต่ละตัวหน้าตาสะอาดสะอ้าน พากันมองมาตาแป๋ว เจ้าเหมียวจำเป็นต้องอยู่ในกรง เพราะว่าแมวกับหมาแม้จะสี่ขาเหมือนกัน แต่ไม่มีความสุขในการอยู่ร่วมกัน กรงของเจ้าหมาก็มีเหมือนกัน “เราใช้กรงแบบเปิดปล่อย มันจะวิ่งเข้าออกอย่างไรก็ได้ เพราะบางตัวเจ้าของเดิมเลี้ยงไว้ในกรงจนมันติดกรง”
บรรดาหมาๆทั้งหลาย ไม่น่าเชื่อว่าจะมีพันธุ์ราคาแพงๆรวมอยู่ด้วย “ส่วนใหญ่เป็นพันทาง คือผสมกันมา ไม่รู้ว่าพ่อแม่เขาพันธุ์อะไรบ้าง จะเห็นว่ามีสวยๆอยู่มาก พวกนี้ถ้าจะมีใครขอไปเลี้ยงเราก็ยินดี มีข้อแม้อย่างเดียวว่าถ้าเลี้ยงไม่ได้ก็อย่าไปทิ้งเป็นภาระคนอื่น ให้เอามาส่งคืน เราไม่ว่ากัน”
ด้านป้าสำรวย โตพฤกษา เจ้าของสถานที่ดูแลหมา ปัจจุบันอายุ 69 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ตับ และอีกหลายโรคต้องมาพักรักษาตัวอยู่กับน้องสาวที่จังหวัดนนทบุรี “อยากจะกลับไปหาหมาแมว แต่น้องบอกว่าให้แข็งแรงอีกหน่อยก่อน กลัวหมาจะชนล้ม”
เมื่อถามถึงสถานะทางการเงิน ป้าบอกว่าก็จับแพะชนแกะไปแต่ละเดือน หนี้สินต่างๆพอได้เงินก็ผ่อนใช้ให้ไป ทั้งค่าอาหาร ค่ารักษาหมา แล้วทำไมมาเลี้ยงหมา “ป้าเลี้ยงมันด้วยความสงสาร” และปัจจุบัน ช่วงเศรษฐกิจยังดี “มีคนมาช่วยเหลือบ้าง และช่วยซื้อที่ดินขยายพื้นที่เลี้ยงไปอีก 4 ไร่ ป้าอยากจะทำรั้วให้หมามันอยู่กว้างๆ แต่ค่าใช้จ่ายมันแพง” ดังนั้น ประดาหมาๆ ก็อยู่ในอาคารที่แบ่งไว้เป็นล็อกๆ และขึ้นไปยืดเส้นยืดสายกันบ้างตามไหล่เขา ป้าสำรวยอดเปรยไม่ได้ว่า เห็นเขามาทิ้งทีไรก็สงสาร ปล่อยเอาไว้ก็ถูกรถชนตายหมด บางทีก็โดนยาเบื่อจึงไม่อาจปล่อยให้หมาอยู่ตามยถากรรมได้
ความรักเป็นเรื่องงดงาม แต่ถ้าหมดรักแล้วยื่นภาระให้คนอื่นอย่างนี้ จักนิยามคำว่ารักกันอย่างไรดี