ที่มา: thaipbs

จากกรณี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรมอนามัยเตือนถึงอันตรายของผงหมึก แสงหลอดไฟ และสารเคมีในเครื่องถ่ายเอกสาร ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจที่อาจถึงขั้นสูญเสียการรับรู้กลิ่น การทำงานของตับและไตบกพร่อง และยังเป็นสารก่อมะเร็ง พร้อมแนะให้ใส่ถุงมือและหน้ากากเวลาถ่ายเอกสารนั้น

ภัยจากเครื่องถ่ายเอกสาร

27thaayeksaar2

วันที่ 27 ม.ค. 2558 นายวิโชติ เชวงวณิชชา เจ้าของร้านเปเปอร์ ปรินท์ ซ.จุฬาเกษม ถ.งามวงศ์วาน กล่าวว่า เพียงแค่ 6 เดือน หลังจากเปิดบริการถ่ายเอกสาร ซึ่งตกวันละประมาณ 2,500-3,000 แผ่น หรือ 5-6 รีม ซึ่งน้อยกว่าร้านถ่ายเอกสารแถวสถานศึกษากว่าครึ่ง พบว่าระบบทางเดินหายใจของมีปัญหา โดยทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปีครึ่ง ตนต้องทานยาแก้แพ้คุมอาการไว้ทุกเช้า เพราะคันจมูกและมีน้ำมูกตลอดเวลา เวลาเช็ดก็จะเกิดแผลตกสะเก็ดในโพรงจมูก อีกทั้งหากอากาศเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยภูมิแพ้ก็ขึ้นทันที

เพียงครึ่งปีหลังจากเปิดบริการถ่ายเอกสาร ปัจจุบันเจ้าของร้านเปเปอร์ ปรินท์ ต้องทานยาแก้แพ้ทุกวัน

27thaayeksaar4

“อาการป่วยที่เกิดขึ้น คิดว่ามาจากผงหมึกเครื่องถ่ายเอกสารแบบเลเซอร์ ที่ไม่ใช่แค่ช่วงเติมหมึก เปลี่ยนหลอดหมึก แต่ขณะถ่ายเอกสารก็มีผงหมึกปนเปื้อนออกมาพร้อมไอร้อน เพราะเมื่อก่อนเดินทางไปทำงานเจอฝุ่นละอองต่าง ๆ ก็ไม่เกิดอาการเหมือนในปัจจุบัน ส่วนที่กรมอนามัยออกมาแนะนำให้ใส่ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งหรือใส่หน้ากากระหว่างถ่ายเอกสาร ทำได้ในบางครั้ง แต่ไม่สามารถทำได้ตลอดวันหรือทุกวัน เนื่องจากทำงานไม่สะดวก แต่จะระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้อาการป่วยแย่ไปกว่านี้” นายวิโชติระบุ

ไม่ต่างจาก นางสาวชมพู (นามสมมติ) พนักงานร้านถ่ายเอกสารย่านโรงเรียนกวดวิชา ถ.งามวงศ์วาน กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จากประสบการณ์ทำงานถ่ายเอกสารมาตั้งแต่อายุ 14 พบว่าตัวเองเริ่มมีอาการภูมิแพ้หนักเมื่ออายุได้ 20 ปี ปัจจุบันอายุ 28 ปี มีอาการคันจมูก คันตา จนต้องทานยาแก้แพ้ในบางวัน และเป็นหวัดง่าย เมื่อถามเพื่อน ๆ ที่ทำอาชีพเดียวกันพบว่าบางคนมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย

“แม้จะใส่หน้ากากเวลาเติมผงหมึกและใช้ความระมัดระวังสูง แต่เมื่อเอาก้านสำลีชุบน้ำเกลือเช็ดโพรงจมูกจะเห็นว่ามีคราบดำเยอะมาก บางครั้งน้ำมูกยังเป็นสีดำ ยิ่งร้านที่ไม่มีอากาศถ่ายเทคิดว่าร่างกายจะปนเปื้อนผงหมึกเยอะกว่าปกติ ส่วนเรื่องสายตาสั้นไม่แน่ใจว่าเป็นผลมาจากแสงไฟของเครื่องถ่ายเอกสารหรือไม่” นางสาวชมพูกล่าว

27thaayeksaar3

ผงหมึกกระจายอยู่ทั่วเครื่องถ่ายเอกสารเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และลูกค้า

ขณะที่ เจ้าของร้าน NT copy center หน้ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า ทำงานมา 5 ปี ยังไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้ทางร้านจัดสถานที่ให้เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท จึงคิดว่าไม่น่าจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

การติดพัดลมระบายอากาศหรือพัดลมดูดอากาศ ช่วยลดสารเคมีบริเวณที่ถ่ายเอกสารได้

ด้านเจ้าของร้าน PK ดวงกมล copyceter ซอยประชาสงเคราะห์ 27 ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ตนและลูกน้องยังไม่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการทำงานกับเครื่องถ่ายเอกสาร โดยตนทำกิจการรับถ่ายเอกสารมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่เด็กก็คลุกคลีกับสิ่งนี้มาตลอด รับช่วงต่อธุรกิจจากพ่อ อย่างไรก็ตามตนได้หาวิธีการป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นคือทั้งตนและลูกน้องจะใส่หน้ากากอนามัยขณะทำงาน เพราะกลัวว่าการสัมผัสฝุ่นผงจากเครื่องถ่ายเอกสารในระยาวอาจเกิดปัญหาสุขภาพได้

ลูกจ้างร้านถ่ายเอกสารย่านดินแดง บอกว่าเพิ่งทำงานร้านถ่ายเอกสารได้ไม่นาน และไม่ได้ป้องกันอะไรเป็นพิเศษ แต่ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เครื่องถ่ายเอกสารในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผู้ใช้ไม่ต้องสัมผัสกับน้ำหมึกโดยตรงเหมือนสมัยก่อน การเปลี่ยนอุปกรณ์ก็ทำได้ง่ายขึ้น คิดว่าน่าจะปลอดภัยกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ

เจ้าของร้านถ่ายเอกสารย่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าปัจจุบันนี้เครื่องถ่ายเอกสารมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และประเทศผู้ผลิตก็มีความใส่ใจเรื่องการลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนตนจะมีปัญหาเฉพาะแสงของเครื่องถ่ายที่มักจะสะท้อนเข้าตา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัญหาสุขภาพ

เรื่องน่าสนใจ