ที่มา: voicetv

อธิบดีกรมการแพทย์ เผย โรคกระดูกพรุนมักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แนะรับกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงและออกกำลังกายสม่ำเสมอป้องกันการเกิดโรค

913509

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระดูกถือเป็นอวัยวะที่แข็งที่สุดในร่างกาย คนส่วนใหญ่จึงละเลยการดูแลสุขภาพของกระดูก ส่งผลให้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่าสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากและมีอายุเฉลี่ยเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (International Osteoporosis Foundation – IOF) จึงได้กำหนดให้วันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันโรคกระดูกพรุนโลก (World Osteoporosis Day – WOD) โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่เนื้อกระดูกผุกร่อนไปจากปกติ เนื้อกระดูกลดลง โครงกระดูกซึ่งเคยแข็งแกร่งจะเปลี่ยนเป็นโครงที่ผุกร่อนพร้อมจะแตกหักได้ทุกเมื่อ เพียงแค่ยกของหนักหรือกระทบกระแทกเพียงเล็กน้อยก็เกิดการแตกหักได้ ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณกระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกบริเวณข้อมือ เป็นต้น

และหากกระดูกบริเวณข้อสะโพกหักจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก เพราะพบว่าประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี และมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีชีวิตรอดจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแล สาเหตุของโรคกระดูกพรุนเกิดจากกระบวนการเสริมสร้างกระดูกลดลงและเนื้อเยื่อเสื่อมสลายในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป

ตามปกติเพศหญิงจะมีมวลกระดูกน้อยกว่าเพศชาย เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงจะมีอัตราการสูญเสียมากกว่าการสร้างกระดูก จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนมักไม่มีสัญญาณหรืออาการเตือนภัยใดๆ อาจมีแค่ปวดเมื่อย คนทั่วไปจึงไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุน จนกว่าจะเข้ารับการรักษากระดูกจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยหรือมีอาการปวดหลัง หลังโก่งค่อมหรือโค้งงอ ตัวเตี้ยจากการยุบตัวลงของกระดูกสันหลัง

ดังนั้น ควรป้องกันโดยการสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยรุ่น พยายามรักษาปริมาณเนื้อกระดูกให้คงเดิมมากที่สุดในวัยก่อนหมดประจำเดือน และชะลอการถดถอยของเนื้อกระดูกเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักในวัยหลังหมดประจำเดือน อธิบดีกรมการแพทย์ แนะว่า ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงให้ได้ปริมาณที่ร่างกายต้องการ คือ ประมาณ 800 – 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน เช่น นม เนยแข็ง ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อยพร้อมกระดูก กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ถั่วแดง งาดำ อาหารทะเล ผักใบเขียวทุกชนิด ดื่มน้ำที่มีสารฟลูออไรด์

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมสารแคลเซียมด้วยวิตามินดีในรูปของอาหารหรือยาและการได้รับแสงแดดจะสามารถช่วยเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีทางผิวหนังได้ สำหรับอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น นม น้ำมันตับปลา เนยแข็ง เนย ไข่ และตับ เป็นต้น

เรื่องน่าสนใจ