ที่มา: เดลินิวส์

แล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี จับตา มี.ค.-มิ.ย. 120 วันอันตราย รับมือวิกฤติขาดแคลนน้ำหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชี้สงกรานต์ปีนี้งดสาดน้ำหันมาประพรมพอเป็นพิธี

01

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย ขณะนี้ได้ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 12 จังหวัด 46 อำเภอ พร้อมกับให้ทางจังหวัดลงสำรวจตรวจสอบแหล่งน้ำ และปริมาณน้ำในพื้นที่ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ คือบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพราะมีการเพาะปลูก และเลี้ยงปลาในกระชังเป็นจำนวนมาก ขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด

ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี ถือว่าเป็นวิกฤตหนักสุดในรอบ 20 ปี ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในช่วง 120 วันราวต้นเดือน มี.ค.-มิ.ย.นี้ เป็นช่วงที่ต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติ หากไม่มีน้ำใช้พอการเกษตรหน้าแล้งนี้ จะทำให้ต้นข้าวที่ปลูกเสียหายทั้ง 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ คาดมูลค่าราว 12,000 ล้านบาท จากการประเมินต้นทุนทำนาไร่ละ 3,000 บาทเท่านั้น สำหรับการใช้อุปโภคบริโภคอาจต้องเปิดปิดเป็นเวลา

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และโฆษกกรมชลประทาน ระบุว่า หากฝนไม่ตกจะทำให้มีน้ำใช้ได้ถึงต้นเดือน ส.ค.เท่านั้น ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีทั่วประเทศต้องใช้น้ำ ให้งดจำนวนวันเล่น และปริมาณการใช้น้ำเล่นลง ไม่ควรสาดน้ำกันเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ควรเล่นประพรมน้ำให้เป็นพิธี เพื่อให้มีน้ำสำรองใช้ รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งต่างจังหวัด เช่น จ.พิษณุโลก ขณะนี้ขยายวงกว้างโดยเฉพาะ อ.บางระกำ ประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว หมู่ 7 ต.บางระกำ อ.บางระกำ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้แห้งขอด จนเรือที่จอดไว้ก่อนหน้านี้ต้องจอดนิ่งบนพื้นดิน ส่วนที่ จ.นครราชสีมา นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะตามสถานพยาบาลหลายแห่ง ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากน้ำจากสระน้ำสาธารณะ ที่ใช้ทำเป็นน้ำประปาเริ่มแห้งขอด บางแห่งต้องขุดบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้ชั่วคราว เช่นเดียวกับที่ จ.สุรินทร์ แหล่งน้ำตามธรรมชาติได้แห้งขอดหลายแห่ง

เรื่องน่าสนใจ