ที่มา: si.mahidol.ac.th

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ความผิดปกติซ่อนเร้นในยีนของครอบครัว ที่อาจไม่แสดงอาการก็ได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน กล่าวคือ ผู้ป่วยมักมีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อย ๆ หรือหอบหืด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (ATOPIC DERMATITIS)

เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยมักมีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อย ๆ หรือหอบหืด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนเช้ามืด คนในครอบครัวผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ แพ้อากาศ ไอจามบ่อย ๆ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหาร หรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรคและสารเคมีที่ระคายผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเลย ก็เป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวผู้ป่วย โดยไม่เกิดอาการก็ได้

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
ภาพจาก healthline.com

อาการและลักษณะของผื่นแพ้
ผื่นผิวหนังอักเสบในโรคนี้อาการคันมาก ลักษณะเป็นผื่นแดง หรือมีตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้ว กลายเป็นสะเก็ดแข็ง ถ้าผื่นนี้เป็นมานานเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันได้ตามวัยของผู้ป่วยในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรก ผื่นผิวหนังอักเสบจะพบมากบริเวณใบหน้า ศีรษะ เด็กมักจะเอาแก้มหรือศีรษะถูกไถกับหมอน ผ้า ที่นอน เพราะผื่นคันมากในเด็กวัยเรียน และผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบพบมากในบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่งที่มีการเสียดสี แต่ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นเกิดทั่วร่างกายได้

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
ภาพจาก mdedge.com

มีวิธีทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังชนิดนี้หรือไม่ ?
การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อาศัยประวัติที่ผู้ป่วยมีอาการคันตามตัว เป็นผื่นผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ ผู้ปกครองและผู้ป่วยมักมีคำถามเสมอว่ามีวิธีทดสอบหรือไม่ว่าผู้ป่วยแพ้อะไร เช่น การสะกิดฉีด หรือแปะยา ทดสอบใต้ผิวหนัง หรือใช้วิธีการเจาะเลือดตรวจว่าผู้ป่วยแพ้อะไร คำตอบคือ ไม่มีวิธีการทดสอบดังกล่าวที่จำเป็นต้องทำในการดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยและญาติควรสังเกตตัวเองว่าเมื่อสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมชนิดใดแล้วทำให้ผิวหนังอักเสบเห่อขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมเหล่านั้น

 

วิธีการดูแลและรักษา

  • หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น
    เช่นไม่อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นหรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เหงื่อออกมาก
  • ควรทานยาต้านฮิสตามีน ลดอาการคัน
    เมื่อมีอาการคัน อาจทานยาต้านฮิสตามีน วันละ 2-3 ครั้งติดต่อ เว้น 5-7 วัน เพื่อลดอาการคัน เพราะอาการคัน ทำให้ต้องแกะเกาผิวหนัง ผื่นผิวหนังที่อักเสบจะกำเริบขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ได้แก่ คลอเฟนนิลามีน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ข้อที่ควรระวังคือ ยานี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน
  • ยาทากลุ่มสเตรียรอยด์
    มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง

กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์เพราะจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียค่ะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

สนใจหาข้อมูลและปรึกษาศัลยกรรมได้ที่นี่

โดดเด่น ศัลยกรรม webdodeden

เรื่องน่าสนใจ