โรครังแคบนใบหน้า หรือ “เซ็บเดิร์ม” (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่พบบ่อยอีกชนิดหนึ่ง โดยพบได้ใน 2 กลุ่มอายุ คือ วัยทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 เดือน และวัยผู้ใหญ่ทุกช่วงอายุ แต่ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ผู้ใหญ่ในช่วงวัย 40-60 ปี

 

โรครังแคบนใบหน้า
ภาพจาก : regionalderm.com

 

และส่วนใหญ่แล้ว จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV หรือในกลุ่มที่มีโรคทางระบบประสาท โดยเฉพาะโรคพาร์กินสัน จะพบเป็นผื่นรุนแรง และรักษายากกว่าในคนปกติทั่วไป

 

โรครังแคบนใบหน้า ผื่นคันสุดน่ารำคาญที่ต้องรีบจัดการ !

ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของโรครังแคบนใบหน้านั้นยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังบริเวณนั้น มีการสร้างไขมันมากกว่าปกติ หรือเกิดจากส่วนประกอบของไขมันที่สร้างขึ้นมามีความผิดปกติ ร่วมกับการพบเชื้อยีสต์ Malassezia furfur ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทําให้เกิดโรคเกลื้อน เพิ่มจํานวนมากขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีผื่น ซึ่งยีสต์ชนิดนี้ จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบตามมา

 

โรครังแคบนใบหน้า
ภาพจาก : medical-labs.net

 

นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกบางอย่าง ก็ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นได้ เช่น ความเครียด สภาพอากาศร้อน และ แสงแดด เป็นต้น ซึ่งผื่นในช่วงวัยทารก อาจพบได้ตั้งแต่เด็กมีอายุ 1 สัปดาห์ โดยมักพบพื้นที่บริเวณหนังศีรษะ มีลักษณะเป็นผื่นแดง ขอบเขตชัดเจน มีขุยมันๆ สีขาวอมเหลืองปกคลุม ในรายที่เป็นมาก ผื่นอาจมีสะเก็ดลอกเป็นแผ่นหนาๆ หรือมีน้ำเหลืองซึม

ผื่นของโรครังแคบนใบหน้าอาจเป็นได้ทั่วทั้งหนังศีรษะ หรืออาจพบพื้นที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า หลังหู บริเวณข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ หรือในรายที่เป็นรุนแรงก็อาจพบผื่นได้ทั่วทั้งตัว  สําหรับผู้ใหญ่ ผื่นของโรครังแคบนใบหน้าพบได้บ่อยที่สุดบริเวณหนังศีรษะและใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนผิวหนังบริเวณที่มีการผลิตไขมันจากต่อมไขมันมากกว่าปกติ ได้แก่ ข้างจมูก คิ้ว ใบหู หลังหู หน้าอก รักแร้ หรือบริเวณขาหนีบ ผู้ป่วยมักมีอาการคัน ในบางรายอาจพบผื่นแดงอักเสบที่หนัง ศีรษะ หน้าอก และแผ่นหลังร่วมด้วย

 

โรครังแคบนใบหน้า
ภาพจาก : skineni.win

รักษาอย่างไร ?

เนื่องจากโรครังแคบนใบหน้ามักหายเองได้ การดูแลรักษาหลักจึงยังไม่จําเป็นต้องใช้ยา แต่อาจเริ่มด้วยการดูแลรักษาผิวหนังทั่วไป ได้แก่ การทาครีม โลชั่น หรือน้ำมันที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุมชื้นแก่ผิวหนัง โดยทาลงบนพื้นหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ นอกจากนี้ การใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน หรือแชมพู ขจัดรังแคที่มีส่วนผสมของซีลีเนียมซัลไฟด์ ซิงค์ ไพรไทออน กรดซาลิไซลิก หรือยาต้านเชื้อราคีโต โคนาโซล ก็สามารถทําให้พื้นที่หนังศีรษะดีขึ้นได้ ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยาต้านเชื้อราชนิดทานร่วมด้วย

 

••••••••••••••••••

อย่าลืมเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดผิวและหนังศีรษะ ที่ปราศจากสารที่อาจก่อความระคายเคือง เช่น สารกันบูด หรือน้ำหอม ในรายที่ผื่นเป็นมาก และรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาทาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา หรือยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์อ่อนๆ เพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนังซึ่งจะแนะนําให้ใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทําให้โรคกําเริบ เช่น แสงแดด ความเครียด และครีมที่มีส่วนผสมของสารก่อความระคายเคืองด้วยนะคะ

 

เนื้อหาโดย Dodeden.com

 

เรื่องน่าสนใจ