นำเสนอข่าวโดย โดดเด่นดอทคอม
ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มีคดีหนึ่งที่พูดถึงกันมาในโลกโซเซียล ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องโซเซียลที่ดำรงตำแหน่ง “ลูกจ้าง” นั่นก็คือ กรณีจากคำพิพากษาฎีกา ที่ 2564/2557 กรณีการเลิกจ้างอันเนื่องมาจาก ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ของนายจ้างในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง เป็นเหตุให้งานในหน้าที่ ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยนายจ้าง เลิกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ทางผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ได้สอบถามไปยัง ดร.สุรศักดิ์ มณีศร อาจารย์ผู้สอนกฎหมายแรงงาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่ง ดร.สุรศักดิ์ ได้ให้ความกระจ่างมา ดังนี้
“ปกตินายจ้าง จ้าง ลูกจ้างมาทำงาน ไม่ได้จ้างมาเล่นเน็ต หรือเล่นเฟซบุ๊ก กรณีนี้ คือ ลูกจ้างไม่ทำงาน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้าง ก็เลิกจ้างกัน ก็ถูกแล้ว
แต่ต้องเข้าใจประการหนึ่งว่า กรณี คำพิพากษาฎีกา ที่ 2564/2557 เป็นกรณีของลูกจ้างทดลองงาน ซึ่งจะมีการเลิกจ้างกันได้ง่าย เนื่องจากการทดลองงาน เป็นการทดลองกันทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ดูความเหมาะสมซึ่งกันและกัน แต่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา (เช่น พอทดลองเดินทางไปทำงาน ไปกลับวันละหลายชั่วโมง ก็เปลี่ยนใจไม่ไปทำงานแล้ว)
พูดง่ายๆ ก็คือ ลูกจ้างทดลองงาน กฎหมายคุ้มครองเรื่องการเลิกจ้าง น้อยกว่า ลูกจ้าง ที่ผ่านการทดลองงานแล้ว
มาถึงการเล่นเน็ต แชท หรือเล่นเฟซบุ๊ก ในเวลางาน ต้องดูว่า เป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่
ถ้าลูกจ้าง เป็นพนักงานขับรถ ขับรถไป เล่นเฟซบุ๊กไป แชทไป อันนี้ เป็นเรื่องร้ายแรง เลิกจ้างได้เลย
แต่ถ้าเป็นพนักงานบริษัท ลูกจ้าง คุย เล่นเน็ทกันบ้าง เป็นปกติ ไม่ถือเป็นเรื่องร้ายแรง
แต่ถ้า เล่นบ่อยๆ จนเสียการเสียงาน เตือนแล้ว กระทำผิดซ้ำคำเตือน อันนี้ ก็เลิกจ้างได้ เพราะในการทำงานของลูกจ้าง ทุกนาทีที่ผ่านไป นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง
หรือเทียบอีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นลูกจ้างทดลองงาน มาสายแค่วันเดียว ก็เลิกจ้างได้ แต่ถ้าเป็นลูกจ้างบรรจุแล้ว จะไปเลิกจ้างทันทีไม่ได้ ต้องมีหนังสือเตือนก่อน แล้ว ลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือน จึงจะเลิกจ้างได้”
สรุปก็คือ จะเลิกจ้างได้หรือไม่ พิจารณาดังนี้
1. ถ้าเป็นพนักงานทดลองงาน นายจ้างเลิกจ้างได้เลย
2. ถ้าผ่านการทดลองงาน เป็นพนักงานประจำแล้ว จะเลิกจ้างได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่
(เช่น เป็นพนักงานขับรถ ไม่ควรเแชท เวลาขับรถ ถ้าแชทหรือเล่นเฟซบุ๊กในเวลาขับรถ อันนี้เป็นกรณีร้ายแรง เลิกจ้างได้เลย)
แต่ถ้าเป็นกรณีไม่ร้ายแรง (หน้าที่การงาน มิได้ต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ หรืออยู่ในวิสัย ที่นายจ้างอลุ้มอล่วย) นายจ้าง ต้องเตือนเป็นหนังสือก่อน ถ้าลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือน จึงจะเลิกจ้างได้