ที่มา: matichon

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งปี 2551 ในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กรมศิลปากรนำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวัง ตั้งแต่วันแรกจนครบ 100 วัน วันละ 7 ครั้งนั้น

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเรื่อง ‘ฉิ่งพระฉัน’ ขณะพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าของทุกวัน จนครบ 100 วัน

เพลงฉิ่งพระฉัน (เช้า) ประกอบด้วย

1.เพลงต้นเพลงฉิ่ง 2.เพลงสร้อยเพลงฉิ่ง 3.เพลงสามเส้า

4.เพลงจระเข้ขวางคลอง 5.เพลงถอยหลังเข้าคลอง 6.เพลงท้ายถอยหลังเข้าคลอง

7.เพลงฉิ่งพระฉัน 4 ท่อน 8.เพลงฉิ่งนอก 9.เพลงฉิ่งกลาง 10.เพลงฉิ่งใหญ่

11.เพลงฉิ่งเล็ก 12.เพลงฉิ่งสนาน 13.เพลงฉิ่งชั้นเดียว 14.รัวเพลงฉิ่ง

ต่อมาในพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กรมศิลปากร ได้จัดวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ ประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวัง ตั้งแต่วันแรกจนครบ 100 วัน วันละ 6 ครั้ง

วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเรื่อง ‘ฉิ่งพระฉันเช้า’ เหมือนครั้งงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นอกจากนี้ยังโปรดฯให้กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต ศึกษาเพลงเรื่อง ‘ฉิ่งพระฉันเพล’ ให้บรรเลงขณะพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพล เฉพาะวันพุธที่สมาชิกราชสกุลเข้าร่วมบำเพ็ญพระราชกุศล

เพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเพล ประกอบด้วย

1.เพลงกระบอก 2.เพลงแมลงวันทอง 3.เพลงกระบอกทอง 4.เพลงตะท่าล่า 5.เพลงท่าน้ำ

6.เพลงฟองน้ำ 7.เพลงฝั่งน้ำ 8.เพลงมีลม 9.เพลงคลื่นกระทบฝั่ง 10.เพลงทะเลบ้า

11.เพลงลอยถาด 12.เพลงพระยาพายเรือ 13.เพลงมัดตีนหมู 14.เพลงแขกนกกิ้งโครง 15.จบด้วยรัวเพลงฉิ่ง

และในงานพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร กรมศิลปากรนำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวัง จนครบ 100 วัน วันละ 6 ครั้ง

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%82%e0%b8%84%e0%b8%a1%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b3%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a109

มีลำดับการประโคมดังนี้

เริ่มด้วยวงสังข์แตร กับวงปี่ไฉนกลองชนะ ประโคมสลับต่อเนื่องกัน เป็นวงประโคมลำดับที่ 1 วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ ประโคมลำดับที่ 2

วงประโคมลำดับที่ 1 เริ่มด้วยประโคมมโหระทึก ตีประโคมตลอดเวลาจนจบการประโคมลำดับที่ 1 วงสังข์แตรประโคมเพลงสำหรับบท จบแล้ววงปี่ไฉนกลองชนะประโคมเพลงพญาโศกลอยลม

เมื่อจบกระบวนเพลงแล้ว วงสังข์แตรประโคมเพลงสำหรับบทอีกครั้ง ต่อด้วยวงปี่ไฉนกลองชนะ ประโคมเพลงพญาโศกลอยลมอีกครั้ง จบกระบวนเพลง วงสังข์แตรประโคมเพลงสำหรับบทครั้งสุดท้าย เป็นการจบการประโคมลำดับที่ 1

วงประโคมลำดับที่ 2 ปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ ประโคมเพลงเรื่องนางหงส์ ประกอบด้วยเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน เพลงสาวสอดแหวน เพลงกระบอกทอง เพลงคู่แมลงวันทอง และแมลงวันทองเป็นเพลงสุดท้าย เมื่อประโคมจบ เป็นการเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ในพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในแต่ละวัน ขณะพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้า วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเช้า และในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ปัณรสมวาร (15 วัน) ปัญญาสมวาร(50 วัน) และสตมวาร (100 วัน) วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเพล ดังได้ถือปฏิบัติมา

เรื่องน่าสนใจ