เนื้อหาโดย Dodeden.com

เพราะไตทํางานเกี่ยวข้องกับความเค็มโดยตรง เป็นอวัยวะที่ช่วยปรับและขับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล การกินเค็มอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายสามารถปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และระดับเกลือแร่ให้สมดุล แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมมากจนเกินไป ไตก็จะมีหน้าที่ขับออกทางปัสสาวะตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม กับดักของรสเค็มคือความอร่อย ทว่าหากเรายังเสพติดรสเค็มต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ก็ย่อมทําให้ไตทํางานหนักโดยไม่ได้หยุดพัก เหมือนรถยนต์ที่วิ่งทางไกลทุกวัน ย่อมมีโอกาสเสื่อมโทรมและพังได้เร็วขึ้น

เกลือมีคุณสมบัติในการอมน้ำ เมื่อเราบริโภคเกลือเข้าไปในร่างกายปริมาณมากจะทําให้ปริมาณเลือดหรือปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้แรงดันเลือดสูงขึ้น หรือที่เรียกว่าความดันโลหิตสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดที่มีอยู่ทั่วร่างกาย เช่น ทําให้หลอดเลือดเสื่อมและอักเสบ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมา ทั้งโรคไต โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ที่น่ากลัวคือในปัจจุบัน แนวโน้มของผู้ป่วยโรคไตมีอายุเฉลี่ยน้อยลงอีกด้วย

เสี่ยงโรคไต ได้ของแถมเป็นน้ำหนักตัว
คนจํานวนมากเสพติดความอร่อยจากรสชาติที่ลิ้นสัมผัส โดยหารู้ไม่ว่าเคลือบแฝงไปด้วยอันตราย ที่ค่อยๆ เป็นบ่อนทำลายสุขภาพลงทุกวัน โดยเฉพาะรสเค็ม ซึ่งเป็นรสชาติที่จัดจ้าน ช่วยเพิ่มความอร่อยและทำให้เจริญอาหาร ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ติดรสเค็มจึงมักไม่ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนัก และยังมีแนวโน้มที่น้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้นด้วย จริงๆ แล้ว คนที่กินเค็มส่วนใหญ่มักจะกินหวานควบคู่ไปด้วย เพราะลําพังรสเค็มอย่างเดียวจะไม่อร่อย ต้องเค็มๆ หวานๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ในการพัฒนาไปสู่โรคไต สําหรับผู้ป่วยโรคไตระยะเริ่มต้น หากรักษาไม่ดี ไตจะเสื่อมไปตามเวลาจนถึงภาวะไตวาย

เลี่ยงอาหารที่ให้โซเดียมสูง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สิ่งที่เราบริโภคเข้าไปในทุกวันนี้ ล้วนเต็มไปด้วยปริมาณโซเดียมสูงจนน่าตกใจ ทั้งๆ ที่ร่างกายของเราต้องการโซเดียมต่อวันเพียงเล็กน้อย เท่านั้น โดยปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนําให้บริโภคต่อวันคือ 2,000 มก. หรือเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือหากเทียบเป็นปริมาณน้ำปลา ก็ไม่ควรเกินวันละ 4 ช้อนชา ซึ่งหมายความว่าอาหารที่ปรุงสุกจากในครัวแล้ว ไม่ควรเหยาะน้ำจิ้มใดๆ บนโต๊ะเพิ่มอีก จากการศึกษาพบว่าคนไทยได้เกลือจากเครื่องปรุงรสมากเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ รองลงมาคืออาหารที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก แฮม แหนม หมูยอ ความเค็มและโซเดียมจะมากขึ้น 5-10 เท่าเพราะใส่ทั้งเกลือถนอมอาหาร เครื่องปรุงรส และผงชูรส ซึ่งเป็นโมโนโซเดียมกลูตาเมต หรือเกลือแฝงที่ไม่มีรสเค็ม

อันที่สามคือของหมักดอง เช่น ปลาร้า ปลาเค็ม สี่คืออาหารบุฟเฟต์ ซึ่งเป็นแหล่งโซเดียมที่สูงมาก เนื่องจากหมู หรือเนื้อ จะถูกหมักด้วยเครื่องปรุงรสมาก่อน หากกินคู่กับน้ำจิ้มบนโต๊ะ ก็จะได้รับเกลืออีกทวีคูณ รวมไปถึงขนมกรุบกรอบ และอาหารจานด่วนแบบวัฒนธรรมตะวันตก อย่าง พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด ที่ขายพร้อมน้ำอัดลม สุดท้ายคืออาหารจานเดียวแบบคนไทย เช่น บะหมี่น้ำ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ที่มักจะใส่ซุปก้อนเพิ่มความอร่อย ตลอดจนบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป พวกนี้จะมีทั้งเครื่องปรุงรสและปรุงแต่งอาหาร โดยบะหมี่ถึงสําเร็จรูปหนึ่งซอง เฉลี่ยแล้วให้โซเดียม 1,500 มก. หากเป็นรสต้มยำหรือต้มโคล้ง อาจจะสูงถึง 1,800-2,000 มก.

ลดเค็มวันละนิด ช่วยลิ้นปรับรสอย่างได้ผล
ความเคยชินจากการติดรสเค็มมานาน อาจเป็นเรื่องยากที่คุณจะเปลี่ยนมากินอาหารรสจืดได้ในเร็ววัน เราแนะนําให้ค่อยๆ ลดโซเดียมในอาหารลงทีละ 10% เพื่อให้ต่อมรับรสมีการปรับตัว ถ้าลดเค็มประมาณ 10% ลิ้นจะจับรสไม่ได้ หากลดทีเดียว 50% รสชาติอาหารจะเปลี่ยนไปทันที ความอร่อยจะหายไป ฉะนั้นแนะนำให้ค่อยๆ ลดเดือนละ 10%  3 เดือนได้ 30% ถือว่าดีมากแล้ว

นอกจากนี้ การออกกําลังเป็นประจําอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกได้ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยเน้นผักและผลไม้ให้มากขึ้น ปริมาณที่แนะนําคือกินผัก 50% ต่ออาหารหนึ่งมื้อ เนื่องจากในผักและผลไม้มีสารเกลือแร่ที่ช่วยขับ โซเดียมในร่างกายได้ดี และยังเป็นวิธีป้องกันความดันโลหิตสูงตามธรรมชาติได้อย่างดีค่ะ

 

เรื่องน่าสนใจ