นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 10 ต.ค. ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก โดยปีนี้ได้ให้ความสำคัญในเรื่อง “การอยู่ร่วมกับโรคจิตเภท (Living with schizophrenia)” เนื่องจากทั่วโลกมีผู้ที่ป่วยโรคจิตเภทถึง 26 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเท่านั้นที่เข้าถึงบริการบำบัดรักษา

11.jpg

ส่วนผู้ป่วย 90% ในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงการบำบัดรักษา ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมองและการหายขาดของโรค ผู้ป่วยจะเริ่มเป็นช่วงปลายวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 15-35 ปี คิดเป็นอัตรา 7 ต่อ 1,000 คน

ขณะที่ประเทศไทยจากรายงานจำนวนผู้ป่วยนอกจิตเวช ของกรมสุขภาพจิต พบโรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด ล่าสุด มีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยนอกจิตเวชทั้งหมด พบ 388,369 ราย จาก 1,109,183 ราย และพบผู้ป่วยในจิตเวช 20,634 ราย จาก 42,861 ราย

นพ.เจษฎา กล่าวว่า โรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ยิ่งดี เมื่ออาการดีขึ้น ผู้ป่วยต้องกินยาหรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ โดยผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ การขาดยา หรือการลดยา

รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง ญาติจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือ โทร.ปรึกษา สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

12

“การดูแลรักษาคนไข้ทางจิตที่ดี ต้อง 3 ประสาน ทั้งโรงพยาบาล ครอบครัว และชุมชน โดยต้องให้การยอมรับ และให้โอกาสกับพวกเขา แม้ที่ผ่านมามักเห็นภาพการก่อคดีของผู้ป่วยจิตเวชบ่อยครั้ง ทำให้สังคมหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งต้องชี้แจงว่า การกระทำผิดรุนแรงที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิตนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อย เมื่อเทียบกับคนปกติ

อย่างไรก็ตาม การมีโอกาสเข้าถึงบริการ และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิตดีขึ้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า โรคจิตเภทเกิดจากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสมอง ความเครียด หรือการใช้สารเสพติด โดยกลุ่มผู้ป่วย จะมีอาการรุนแรงค่อนข้างมากในแง่ของการรับรู้ตัวเอง และรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง ความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เช่น หลงผิด คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย คิดว่าส่งกระแสจิตได้ เป็นผู้วิเศษ มีอาการประสาทหลอน

เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ เห็นภาพหลอน อาจมีอาการวิตกกังวล สับสน เก็บตัว ซึม แยกตัวจากสังคม บางครั้งนั่งนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวไม่พูดจาใดๆ เป็นชั่วโมงๆ ทั้งนี้ มักพบในวัยทำงานมากสุด ปัจจุบัน สถาบันฯมีผู้ป่วยนอกจิตเวชเข้ารับบริการรักษามากกว่า 1 แสนรายต่อปี ล่าสุด มีจำนวน 111,761 ราย มีผู้ป่วยในจิตเวช จำนวน 4,182 ราย ป่วยเป็นโรคจิตเภทมากที่สุดถึงร้อยละ 50

22

 การรักษามี 3 วิธีหลัก ได้แก่ 1. การใช้ยา 2. การรักษาโดยใช้จิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยให้กลุ่มผู้ป่วยได้วิเคราะห์กลับมาดูตัวเขาเอง และ 3. การบำบัดทางสังคมสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำไปสู่การมีพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม

รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม เช่น รู้จักการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น รู้วิธีการสื่อสารที่ดีเพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งเกิดขึ้น โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาทั้ง 3 วิธี ควบคู่กันไป และเมื่ออาการดีขึ้นจะต้องกินยา หรือฉีดยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งยาจะช่วยควบคุมอาการและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับเข้าสู่สังคมได้ ดูแลตนเองและทำงานได้

“หากมีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในบ้าน ต้องพยายามทำความเข้าใจ อดทน ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น รวมทั้งคอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ ช่วยดูแล ประคองให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง ที่สำคัญ ต้องให้การดูแลเรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง พบแพทย์ตามนัด

หากพบผู้ป่วยมีพฤติกรรมสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ และสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย เช่น พูดพร่ำ เพ้อเจ้อ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด หัวเราะ ยิ้มคนเดียว เป็นต้น

ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ซักผ้า หรือให้ประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำอยู่ตามความสามารถของผู้ป่วย ตลอดจนจัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ โดยเฉพาะเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมากและฟุ้งซ่าน” นพ.สินเงิน กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการ

เรื่องน่าสนใจ