ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

สธ. เผยปี 58 เด็ก-สตรีถูกกระทำรุนแรง 2 หมื่นกว่าราย เฉลี่ยวันละ 66 ราย ส่วนใหญ่ถูกทำร้ายร่างกาย-กระทำรุนแรงทางเพศจากคนใกล้ชิด ขยายการรับแจ้งเหตุ-ช่วยเหลือเบื้องต้นต่อเด็กในระดับตำบล หากพบเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง โทรแจ้ง 1669 หรือ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

EyWwB5WU57MYnKOuYBmYNbV88XdBfOHK8W91VRdDfLyvKcycHgfJfv

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 58 นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การสหประชาชาติกำหนดวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล ให้ทุกประเทศตระหนักและเร่งป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปี 2542 ให้โรงพยาบาลของรัฐทุกสังกัด ตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรง

ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้ง “ศูนย์พึ่งได้” ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนรวม 896 แห่ง เพื่อให้การดูแลเด็กและสตรี รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ อย่างครบวงจรเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว บริการตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล ทางกาย ทางจิต ทางสังคม และการประสานหน่วยงานช่วยเหลือด้านกฎหมายและด้านสวัสดิการสังคมอื่นๆ ที่จำเป็น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ บูรณาการทำงานแบบทีมสหวิชาชีพ

ทั้งนี้ ในปี 2558 พบว่ามีเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง 23,977 ราย เป็นเด็ก 10,712 ราย สตรี 13,265 ราย เฉลี่ยวันละ 66 ราย ในกลุ่มเด็กจะถูกล่วงละเมิดทางเพศและตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มากเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น แฟน รองลงมาคือเพื่อน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม ได้แก่ สื่อลามก ความใกล้ชิด โอกาสเอื้ออำนวย และการดื่มสุรา การใช้สารเสพติด เป็นต้น ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี ปัญหาอันดับ 1 ที่พบได้แก่ การทำร้ายร่างกาย รองลงมาคือถูกกระทำทางเพศและตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุด รองลงมาคือแฟน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสัมพันธภาพในครอบครัว การนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาทกัน

นอกจากนี้ ในปี 2558 ได้ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ พัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุ การคัดกรอง การช่วยเหลือเบื้องต้นและการส่งต่อเด็กถูกทารุณกรรมหรือการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมให้ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างครบวงจร โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นหน่วยประสานงานหลัก นำร่องใน 2 จังหวัดๆ ละ 2 อำเภอ คือ ระยองและชุมพร คัดกรองเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 3 เรื่องคือ ความรุนแรง ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการถูกทอดทิ้ง เพื่อวางแผนดูแลร่วมกับสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยได้คัดกรองจำนวน 2,270 คน แบ่งการดูแลเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธงแดง คือต้องรีบให้การช่วยเหลือคุ้มครองโดยเร็ว กลุ่มธงเหลือง คือมีความเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรม ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และกลุ่มธงเขียว คือเด็กปกติ มีการส่งเสริม ป้องกัน เพื่อไม่ให้อยู่ในกลุ่มธงเหลืองและธงแดง โดยอบรม ให้ความรู้ และทักษะชีวิต การดูแลสุขภาพและเพศศึกษาศิลปะการป้องกันตัว เป็นต้น สำหรับในปี 2559 ได้ขยายการดำเนินงานไปยังอำเภออื่นๆ และขยายเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น และปทุมธานี

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องความรุนแรงสังคมต้องช่วยกันแก้ไขและป้องกัน หากประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ผู้ถูกกระทำรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ท่านรู้จักหรือไม่ก็ตาม โปรดแจ้ง 1669 หรือ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องน่าสนใจ