ในที่สุดการทำธุรกิจทีวีเคเบิลของ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช บริษัทยักษ์ใหญ่ทีวีเคเบิลของประเทศไทย ที่นำเสนอเนื้อหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศเป็นหลัก ก็เดินทางมาถึงบทสรุปสุดท้ายแล้ว
นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สายงานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยกรณีบริษัท ซีทีเอช จำกัด(มหาชน) ประกาศยุติการให้บริการทั้งหมดในวันที่ 1 กันยายน 2559
เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน นั้น ล่าสุด วันที่ 1 สิงหาคม สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังซีทีเอชแล้วว่า การยุติการให้บริการ ขอให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ กสท. หรือการที่ซีทีเอชในฐานะผู้ให้บริการโทรทัศน์ในกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ หรือ ทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี จะยกเลิกการให้บริการได้ต้องได้รับการยินยอมตามมติบอร์ดกสท ก่อน
เบื้องต้นยอมรับว่าในการพิจารณาแผนเยียวยาเพื่อสู่การพิจารณาของบอร์ดกสท. อาจต้องปรับแผนใหม่ เนื่องจากซีทีเอชเดิมแจ้งเป็นเพียงการปิดในส่วนการรับชมผ่านระบบทีวีดาวเทียม แต่ล่าสุดเป็นการยุติการบริการทั้งระบบ รวมถึงเคเบิ้ลทีวีด้วย
ทั้งนี้ ส่วนของแผนการเยียวยาที่ซีทีเอชนำเสนอก่อนหน้านี้ ยังไม่เป็นที่พอใจเท่าที่ควร เนื่องจากซีทีเอช เสนอมาเพียงแค่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าที่ดูผ่านทีวีดาวเทียมที่ถูกยกเลิกบริการ 40,000 คน
ส่วนของลูกค้าที่ชำระเงินล่วงหน้าประมาณ 9,000 คน จะมีการชดเชยเงินคืนให้ และลูกค้าที่เหลืออีก 31,000 คน ที่ชำระเงินระบบรายเดือน จะให้สามารถรับชมช่องฟรีทีวีได้จนกว่ากล่องรับสัญญาณจะสิ้นสภาพ
อย่างไรก็ตาม บริษัท ซีทีเอช จำกัด(มหาชน) ได้ประกาศยกเลิกบริการเคเบิ้ลทีวี วันที่ 1 กันยายน 2559 ผ่านทาง ระบุว่า จากสภาวะการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้บริษัทต้องยกเลิกการให้บริการลูกค้า โดยลูกค้าทุกท่าน จะไม่สามารถรับชมช่องรายการต่างๆของซีทีเอช ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ธุรกิจทีวีดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีการคาดหมายจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในปีนี้ การแข่งขันของผู้ประกอบการจะรุนแรงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการแต่ละสถานีต่างพยายามผลักดันช่องโทรทัศน์ของตัวเองให้มีเรตติ้งติดอันดับ 1-10
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปดูผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายราย ได้นำส่งงบดุลแสดงผลประการธุรกิจในช่วงปี 2557 ให้กรมพัฒนาธุรกิจรับทราบ ปรากฏข้อมูลดังนี้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ขาดทุน 265,449,561 บาท บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ขาดทุนสุทธิ 39,358,074 บาท บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ขาดทุนสุทธิ 339,975,169.26 บาท
ขณะเดียวกันบริษัทที่มีกำไรได้แก่ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่อง 8 กำไรสุทธิ 338,309,913.03 บาท บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) กำไรสุทธิ 5,510,866,484.09 บาท บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่องworkpoint กำไรสุทธิ 159,124,646.55 บาท