ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) คือ เรื่องเล่า หรือ บทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคน หรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่น ๆ เพื่อให้ประโยชน์ หรือ ให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด หรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และหนึ่งในเรื่องที่ยังเป็นที่ชื่นชอบและมีข้อถกเถียงไม่รู้จักจบ นั่นก็คือกรณีส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ผ่านยานอวกาศอะพอลโล 11 ที่เป็นข้อถกเถียงว่าหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาอาจจะสร้างเหตุการณ์ลวงโลก มีการสร้างสตูดิโอถ่ายทำหนังตบตาผู้คนเพื่อให้สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายคว้าชัยในสงครามเย็น
รวมถึงผู้กำกับชื่อดัง สแตนลี่ย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ก็มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ลวงโลกครั้งนั้นด้วย แล้วทฤษฎีอื้อฉาวอันโด่งดังนี้ ก็กลายเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่อง Operation Avalanche ปฏิบัติการลวงโลก ผลงานโดยผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ ชาวแคนาดา แมทท์ จอห์นสัน (Matt Johnson)
โดยเล่าเรื่องราวของสองเจ้าหน้าที่ซีไอเอผู้แทรกซึมเข้าไปในองค์การนาซ่าในคราบของคนทำภาพนตรฺสารคดีเพื่อควานหาสายลับโซเวียต แต่แล้วทั้งคู่ก็รับรู้ความลับบางอย่างเกี่ยวกับนาซ่า ที่ว่านาซ่าไม่มีศักยภาพมากพอที่จะส่งคนไปเหยียบบนดวงจันทร์ได้
พวกเขาจึงตัดสินใจสร้างภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยยานอะพอลโล 11 พามนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เองซะเลย แล้วส่วนที่ดีที่สุดของภาพยนตร์ไม่ได้อยู่ที่ว่าเส้นเรื่อง หรือ พล็อตเท่านั้น แต่อยู่ที่ว่า แมทท์ จอห์นสัน กล้าทำภาพยนต์เรื่องนี้ออกมาได้อย่างไรต่างหาก
จอห์นสัน ผู้ที่เป็นทั้ง ผู้กำกับฯ เขียนบท และแสดงนำในบทของเจ้าหน้าที่ซีไอเอกล่าวว่า “เราติดต่อทางนาซ่า แล้วพูดว่า ‘เฮ้ เรากำลังทำหนังสารคดีเกี่ยวกับโครงการอะพอลโล เรามาถ่ายทำได้หรือเปล่า แล้วทางนาซ่าก็ตอบรับ
ดังนั้นทุกฉากนั้นที่คุณเห็นผมพูดว่า ‘โอ้ เราแค่ถ่ายทำสารคดีอยู่นะ’ หรือแนะนำตัวเองในฐานะคนทำหนังสารคดี นั่นแหละคือของจริง” และการถ่ายทำหลาย ๆ ฉาก ทีมงานมีสิทธิ์เล่นได้แค่เทคเดียวเท่านั้น และต้องทำงานโดยปราศจากสคริปต์เพื่อเหตุผลบางประการ
“ผมทำสารคดีปลอมเพราะผมคิดว่ารูปแบบนั้นมันสำคัญอย่างยิ่ง ณ ตอนนั้น ผมมองว่าคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องและวิธีตามธรรมเนียมที่คนทำหนังทั่วไปยึดถือนั้นมันใกล้เคียงกับการทำหนังสารคดีทุกขณะ มันแตกต่างจากสารคดีล้อ (Mockumentary) ที่เป็นการล้อเลียนด้วยการคาราวะหนังแนวสารคดี
และตัวละครก็รู้ว่ามีกล้องถ่ายอยู่ แต่สารคดีปลอมมักมีแบบแผนเฉพาะ และไม่ได้นำเสนอในรูปแบบล้อเลียนเลย” ซึ่งวิธีการของจอห์นสันมีต้นทุนที่ถูกกว่าและมีลูกเล่นอิสระกว่าในแบบที่คนทำภาพยนตร์ทั่ว ๆ ไปยังไม่เข้าใจเพราะพวกเขายังต้องเคารพกฎอยู่
“เราถ่ายทำที่นาซ่าจริง ๆ โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าเรากำลังทำหนังเกี่ยวกับการกุเรื่องเหยียบบนดวงจันทร์ นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน”
เหตุการณ์นั้นก็เกิดคำถามว่าองค์การนาซ่าอาจจะเต็มใจให้คนทำหนังสารคดีคนอื่น ๆ เข้าไปถ่ายทำหรือเปล่า แต่จอห์นสันรู้สึกว่าไม่ควรที่จะยืนอยู่บนแนวทางของกระบวนการทำหนัง แต่ปล่อยให้ผู้คนเล่าเรื่องราวใหม่ ๆ ได้
“ถ้าผมไม่ได้ทำ คนอื่นก็คงทำอยู่ดีแหละ ดังนั้นโลกกำลังจะเปลี่ยนไป และผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้คนที่จะได้รู้ทันสื่อมากขึ้นและคิดว่าภาพเหล่านั้นถูกนำมาใช้ได้อย่างไรบ้าง ผมไม่ได้ทำหนังที่ทำให้ผู้คนดูงี่เง่าหรอก เราพยายามทำให้ผู้คนดูดีเท่าที่พวกเขาทำได้ แต่เล่าเรื่องราวที่พวกเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าเรากำลังเล่าอยู่เพราะถ้าพวกเขารู้อยู่แล้ว พวกเขาก็ไม่สามารถเป็นตัวตนที่แท้จริงได้”
ผลที่ออกมา Operation Avalanche จึงกลายเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายทริลเลอร์ที่วางฉากหลังช่วงสงครามเย็นปี 1967 ที่ลุ้นระทึกและน่าติดตามแห่งปี โดยเล่าเกี่ยวกับแอ็คชั่นคู่หู ประเด็นทฤษฎีสมคบคิด จนถึงฉากขับรถไล่ล่า “มันเริ่มต้นเหมือนหนังของคริสโตเฟอร์ เกสท์ ไปสู่หนังของโอลิเวอร์ สโตนเรื่อง JFK สุดท้ายก็กลายเป็น Enemy of the State ที่วิลล์ สมิธ เล่นจนได้” ผู้กำกับฯ กล่าวปิดท้าย