ทราบกันหรือไม่ว่า มหาวิทยาลัยไหนที่ได้รับพระราชทานชื่อ จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
วันนี้จะพาทุกคนไปดูสิว่าจะมีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง บางทีอาจจะเป็นมหาวิทยาลัยที่น้องๆ ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก หรือเรียนอยู่ ซึ่งถือเป็นความภูมิใจมากจริงๆ จะมีมหาวิทยาลัยไหนบ้างนั้น ตามมาดูกันได้เลย
10 มหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย ที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” ให้ได้เป็นมิ่งขวัญ มิ่งมงคลแก่พวกเรา โดยเรียงลำดับตามปีที่ได้รับพระราชทานชื่อดังนี้
1.มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ.2512)
มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันที่มีที่มาจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2432 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512
2. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ( พ.ศ. 2510 )
เมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง “วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์” เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “มหาวิทยาลัยภาคใต้” ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)
หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” เมื่อวันที่22 กันยายน พ.ศ. 2510 ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันสงขลานครินทร์”
3.สถาบันพระจอมเกล้า หรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ในปัจจุบัน ( พ.ศ. 2514 )
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 โดยให้รวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี และวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เข้าด้วยกัน
มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษา ให้การศึกษาทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา และทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามภาษาไทย “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า” และภาษาอังกฤษ “King Mongkut’s Institute of Technology” เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2514
4.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ( พ.ศ. 2517)
ในปี พ.ศ. 2516 ก่อนหน้า เหตุการณ์ 14 ตุลา ในช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร ดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณาจารย์ นิสิต และข้าราชการ ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปรับฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และย้ายสังกัดจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัย ท่ามกลางการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงของรัฐบาลทหารในขณะนั้น เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการเรียนการสอนที่จำกัด ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยและการขยายตัวที่มีความหลากหลายวิชาชีพ
ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร” ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดี โดยนามของมหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ. 2517 โดยพระราชทานเพียงชื่อเต็มและความหมายของชื่อดังกล่าว
5.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ( พ.ศ.2521 )
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (อังกฤษ: Sukhothai Thammathirat Open University; ชื่อย่อ: มสธ., STOU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแบบไม่จำกัดรับจำนวน (มหาวิทยาลัยเปิด) แห่งเดียวของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยเปิดโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกลแห่งเดียวในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดตั้งขึ้นเพื่อขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชน มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ดำเนินการดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” ตามพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์ นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ กรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ( พ.ศ. 2531 )
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (อังกฤษ: Rajamangala University of Technology) เป็นระบบมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2518 ในชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548
7.มหาวิทยาลัยนเรศวร ( พ.ศ. 2533 )
มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ภายหลังจากการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โดยชื่อ “มหาวิทยาลัยนเรศวร” นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยพระองค์ประสูติที่เมืองพิษณุโลก และทรงเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน
8.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ( พ.ศ. 2535 )
ในปี พ.ศ. 2510 ชาวนครศรีธรรมราช เริ่มรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 ให้จัดตั้งวิทยาลัยนครศรีธรรมราช สังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคต
แต่ก็ได้ยกเลิกมติดังกล่าวในเวลาต่อมา และอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2534
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” อันเป็นสร้อยพระนามในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
9.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ( พ.ศ. 2535 )
มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครู หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานนาม “ราชภัฏ” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้ง พระราชทาน พระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ทั่วประเทศ
10.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (พ.ศ. 2553)
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยมี 2 คณะเริ่มแรกคือ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยต่อมา ได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยภูมิพล” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ข้อมูลจาก Facebook Apisit Kaewprasert