สมัยนี้ “ตู้ยาสามัญประจำบ้าน” เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะในยุคของการมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เรายิ่งต้องดูแลสุขภาพในเบื้องต้นด้วยตัวเอง อย่าหวังไปพึ่งพาใครมาก ดังนั้น“ตู้ยาสามัญประจำบ้าน” จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับครอบครัว มาดูกันหน่อยว่าการดูแลรักษายาสามัญมีอะไรบ้าง และ ความหมายของมันคืออะไรกัน
เภสัชกร สิรวิชญ์ พันธนา เภสัชกรชำนาญการ ( ด้านเภสัชกรรมคลินิก ) เปิดเผยกับเว็บไซต์โดดเด่นดอทคอมว่า ยาสามัญประจำบ้าน หมายถึง รายการยาที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาแล้วว่า เป็นยาที่ประชาชนสามารถหาซื้อมาไว้ติดบ้านได้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน
ยาสามัญประจำบ้านเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง หากใช้อย่างถูกต้อง และไม่ใช้ยาเกินขนาดหรือใช้ผิดวิธีก็จะไม่เป็นอันตรายใดๆ ทุกคนหาซื้อยาสามัญประจำบ้านได้ทั่วไปทั้งในร้านขายยา หรือร้านค้าชำทั่วไป
“การเลือกซื้อยาสามัญประบ้าน ควรเลือกซื้อยาที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องมีเลขทะเบียนปรากฏบนฉลากของยานั้น เพราะยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะเป็นยาที่ได้มาตรฐาน สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ และควรสังเกตวันสิ้นอายุ รวมถึงลักษณะภายนอกของยาและบรรจุภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ หลีกเลี่ยงการซื้อยาที่ใกล้สิ้นอายุ หรือสิ้นอายุแล้ว เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
ดังนั้นจึงอยากจะเน้นย้ำให้ทุกคนเลือกยาที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีสภาพดี สภาพสมบูรณ์ เม็ดยาต้องไม่แตก สีของเม็ดยาเรียบเนียนสม่ำเสมอไม่เป็นจุดด่าง หากเป็นยาน้ำเชื่อมจะต้องไม่ตกตะกอน หรือหากเป็นยาน้ำแขวนตะกอน เมื่อเขย่าขวดตะกอนของยาต้องมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ”
เภสัชกร สิรวิชญ์ ระบุอีกว่า ก่อนใช้ยาสามัญประจำบ้าน อย่าลืมอ่านฉลากยาและเอกสารกำกับยาให้เข้าใจก่อนทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยา ไม่ใช้ยาผิดวิธี หรือผิดวัตถุประสงค์โดยใช้ยาไม่ตรงกับสรรพคุณของยา ไม่ควรใช้ยาเกินขนาด
หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือใช้ยาแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีประวัติแพ้ยา รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง หากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
สำหรับยาสามัญที่ควรมีติดบ้านไว้ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ : ยาเม็ดพาราเซตามอล 500 มก. ยาแก้แพ้,ลดน้ำมูก : ยาเม็ดคลอเฟนิรามีน 4 มก. ,2 มก. ยาแก้ปวดท้องท้องอืด ท้องเฟ้อ : ยาธาตุน้ำแดง ,ยาธาตุน้ำขาว , โซดามิ้นท์ , ขมิ้นชันแคปซูล ยาโรคกระเพาะ : ยาเม็ดอลูมินาเมกนีเซีย , ไตรซิลิเคท ยาแก้ท้องเสีย : ยาน้ำเคาลินเปคติน ผงน้ำตาลเกลือแร่ ยาใส่แผล : ทิงเจอร์ใส่แผลสด , ไอโอดีน ยาล้างตา : โบริคโซลูชั่น ยาล้างแผล เช็ดแผล : ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ , แอลกอฮอล์เช็ดแผล ยาทาแก้แพ้แก้คัน : คาลาไมน์ ยาทานวด : ขี้ผึ้งปวดบวม , ครีมระกำ , GPO บาล์ม ยาแก้ไอผู้ใหญ่ : ยาแก้ไอน้ำดำ , ยาขับเสมหะ ยาสูดดม : เหล้าแอมโมเนีย, ยาดม,ยาหม่อง
เครดิตภาพจาก เฟสบุ๊ค ตี๋เล็ก แซ่ตั้ง