การรักษาซีสต์รังไข่

babala

สมาชิกโดดเด่น
Registered
เข้าร่วม
16 กันยายน 2020
ข้อความ
131
Stomachache19032021.jpg
เรื่องสุขภาพภายในของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและหมั่นตรวจเช็ก โดยร่างกายของคนเรามีโอกาสที่จะเกิดซีสต์ได้แทบทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง กระดูก หรือแม้กระทั่งสมอง แต่อวัยวะภายในของเพศหญิงจะมีความพิเศษกว่าเพศชาย เพราะเพศหญิงจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ คือ มดลูก และรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเกิดซีสต์ได้ง่าย โดยเฉพาะรังไข่ เพราะเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุง ดังนั้นโรคซีสต์จึงไม่ใช่โรคไกลตัวของคุณผู้หญิงเลย โดยความน่ากลัวของซีสต์รังไข่คือ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการจนกระทั่งไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสังเกตอาการต่าง ๆ เบื้องต้นได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีในการรักษาอยู่หลายวิธีดังนี้

วิธีการรักษาซีสต์รังไข่

1.ติดตามอาการ

กรณีสงสัยว่าเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดฟังค์ชันนัล ซีสต์ แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการเพื่อดูว่าถุงน้ำยุบไปเองหรือไม่ โดยบางรายอาจต้องได้รับยาคุมกำเนิดแล้วจึงนัดมาตรวจซ้ำ ถ้าซีสต์ไม่ยุบหรือโตขึ้นแสดงว่าไม่ใช่ฟังค์ชันนัล ซีสต์ ก็จะทำการรักษาหรือผ่าตัดออก

2.ผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน

มักจะทำในกรณีเป็นช็อกโกแลตซีสต์ขนาดใหญ่ หรือมีผลทำให้มีบุตรยาก หรือเป็นซีสต์ที่เป็นเนื้องอกรังไข่ เป็นต้น โดยการผ่าตัดทำได้ทั้งแบบผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยจะผ่าตัดเลาะเอาซีสต์ออกอย่างเดียว หรือตัดรังไข่ออกทั้งหมด จะตัดออก 1 ข้างหรือ 2 ข้าง หรือจะต้องตัดมดลูกออกด้วยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของซีสต์ ความต้องการที่จะมีบุตรอีกในอนาคต เป็นต้น

3.ผ่าตัดฉุกเฉิน

มักทำในกรณีถุงน้ำรังไข่แตกหรือถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด ซึ่งเกิดได้ทั้งการเป็นฟังค์ชันนัล ซีสต์ และเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ แต่ในกรณีที่เป็นฟังค์ชันนัล ซีสต์ แตกและมีเลือดออกในช่องท้องไม่มาก แพทย์อาจสังเกตอาการโดยให้พักที่โรงพยาบาล ถ้าอาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

ปัจจุบันการรักษาซีสต์รังไข่สามารถทำได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งข้อดีของวิธีการผ่าตัดแบบนี้คือ ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ดังเดิม แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและอย่าละเลยการตรวจภายในเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งกับสูติ-นรีแพทย์ในผู้ที่ยังไม่เคยเป็น และสำหรับผู้ที่เคยเป็นซีสต์รังไข่แล้ว แนะนำให้พบสูติ-นรีแพทย์ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

#ซีสต์รังไข่
 
กลับ
บน ล่าง