ข้อไหล่ติด ปวดไหล่ ยกแขนไม่สุด รูดซิบหลังเสื้อไม่ได้ ทำอย่างไรดี?

thidarat

สมาชิกโดดเด่น
Registered
เข้าร่วม
25 กันยายน 2019
ข้อความ
66
ภาวะข้อไหล่ติด มักพบได้บ่อยในวัยกลางคน-ผู้สูงวัย เมื่อมีอาการไหล่ติด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สวมเสื้อไม่ถนัด เอื้อมมือหรือยกแขนไม่ขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบและหนาตัวของเยื้อหุ้มข้อเป็นพังผืด ทำให้เคลื่อนไหวข้อได้น้อยลง หรือมักเกิดจากการทำกิจกรรมแบบเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมเป็นระยะเวลานาน หรือการเคลื่อนไหวข้อไหล่ซ้ำ ๆ ก่อให้เกิดการเสียดสี และอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ในผู้สูงอายุจะยิ่งมีอาการเสื่อมจากการใช้งานมากเกินไป

หากตอนนี้คุณกำลังมีอาการปวดไหล่ ยกแขนไม่สุด รูดซิบหลังเสื้อไม่ได้ เริ่มสงสัยว่าจะเสี่ยงข้อไหล่ติดหรือไม่ วันนี้เรานำความรู้จากทางศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธนมาฝาก เพื่อช่วยคุณรับมือเมื่อมีอาการไหล่ติดเกิดขึ้น และได้เรียนรู้ถึงวิธีเช็คความเสี่ยงภาวะข้อไหล่ติด เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

e180c5fdf3cc33087c2655a0342984d4.jpg
อาการข้อไหล่ติดในผู้สูงอายุ แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่กลับเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก วิธีสังเกตอาการคือจะมีอาการเจ็บปวดทุกครั้งที่เคลื่อนไหวแขน เอื้อมแขนหยิบของที่สูงไม่ได้หรือยกแขนไม่สุด อ่อนแรงในขณะยกหรือหมุนหัวไหล่ เอื้อมมือไปรูดซิปด้านหลังเสื้อไม่ได้ หากผู้สูงอายุมีอาการเหล่านี้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ควรตั้งข้อสงสัยว่าอาจประสบปัญหาภาวะข้อไหล่ติดอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุ

ข้อไหล่ติดในผู้สูงอายุ เป็นอย่างไร
ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) เป็นภาวะที่ทำให้มีอาการปวดไหล่และไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้สุดพิสัยข้อ ไม่ว่าจะขยับเองหรือให้ผู้อื่นช่วยขยับให้ สาเหตุเกิดจากการอักเสบและหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อเป็นพังผืด ทำให้เคลื่อนไหวข้อได้น้อยลง การใช้งานซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น การนั่งพิมพ์งานเป็นระยะเวลานาน หรือท่าทางที่เคลื่อนไหวข้อไหล่ซ้ำ ๆ ก่อให้เกิดการเสียดสีและอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ความเสื่อมจากการใช้งานมากเกินไป รวมไปถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ที่มีภาวะการเสื่อมของร่างกายกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อของไหล่

ภาวะหัวไหล่ติดสามารถเกิดขึ้นได้เอง หรือเกิดได้จากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การถูกกระแทก นอกจากจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีการเคลื่อนไหวน้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียงแล้ว ภาวะหัวไหล่ติดยังมักเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ไทรอยด์ และความผิดปกติที่ปอด เช่น วัณโรคหรือจุดที่ปอด อีกด้วย

อาการของภาวะข้อไหล่ติด มี 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการปวดค่อยๆ เป็นมากขึ้น ปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว ปวดมากตอนกลางคืนจนรบกวนการนอน การเคลื่อนไหวของข้อจะค่อยๆ ลดลง
- ระยะข้อติด อาการปวดจากระยะแรกเริ่มลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในทุกทิศทางลดลงชัดเจน อาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันอย่างมาก
- ระยะฟื้นตัว อาการปวดจะลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อย ๆ ดีขึ้น ในช่วง 5 เดือนถึง 2 ปี

ทั้งนี้ อาการไหล่ติดสามารถเกิดได้เพียงข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ แต่มักเป็นแขนข้างที่ไม่ถนัด หากปล่อยไว้นานวันเข้า อาจพัฒนากลายเป็นหัวไหล่แข็ง และขยับแขนอย่างอิสระไม่ได้อย่างถาวร จนอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดขยายถุงหุ้มไหล่ เพื่อให้แขนกลับมาทำงานได้ตามปกติ

เช็คความเสี่ยง...ข้อไหล่ติด
หากใครมีอาการปวดจากการกระทำดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์

- เอื้อมหยิบของด้านหลังไม่ได้ ไม่สามารถไขว้แขนไป ข้างหลังได้
- เอื้อมแขนหยิบของที่สูงไม่ได้หรือยกแขนไม่สุด
- เอื้อมมือไปรูดซิปด้านหลังเสื้อ หรือติดตะขอชุดชั้นในไม่ได้
- เอื้อมไปล้วงกระเป๋ากางเกงด้านหลังลำบาก
- ออกแรงผลักเปิดประตูหนักๆ ไม่ได้
- ยกแขนขึ้นสระผมลำบาก
- ยกแขนเพื่อสวมเสื้อผ้าทางศีรษะไม่ได้
- มีอาการปวดร้าวลงบริเวณต้นแขน หิ้วของหนักหยิบจับทำงานลำบาก

ผู้สูงอายุสามารถหยุดหรือปรับขนาดการใช้ยาเองได้หรือไม่
ผู้สูงอายุไม่ควรหยุดยา หรือปรับขนาดการใช้ยาเอง เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงจากยา ลดประสิทธิภาพของยาจนไม่ได้ผลการรักษา ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น ยาลดความดันโลหิตที่รับประทานต่อเนื่องจนสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ หากหยุดยาเองทันทีอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรปรับขนาดยาหรือหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

การตรวจและรักษาข้อไหล่ติด
แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ (X-Ray) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อแยกโรคอื่นๆ ออกไปตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

ด้านการรักษาข้อไหล่ติดนั้น แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามระยะของโรคจะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้น โดยมีเป้าหมาย คือ การลดความเจ็บปวด เพิ่มพิสัยของการเคลื่อนไหว และการกลับมาใช้งานข้อไหล่ในการทำกิจวัตรประจำวัน ดังนี้
- ระยะปวด การรักษาเน้นลดอาการปวดและการอักเสบ อาจให้ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ
- ระยะข้อติด การรักษาจะเน้นการเพิ่มพิสัยข้อ ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้เองโดยการยืดดัดข้อไหล่ทุกวัน โดยก่อนการดัดข้อไหล่ควรประคบด้วยแผ่นความร้อน หลังดัดข้อไหล่แล้วอาจใช้แผ่นความเย็นประคบป้องกันการอักเสบ หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาทำกายภาพบำบัดโดยการใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนต่าง ๆ และการดัดข้อไหล่โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยทำให้อาการเป็นปกติเร็วขึ้น
- ระยะฟื้นตัว จะเน้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่

ภาวะข้อไหล่ติด รักษาด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้อง
หากทำการรักษาแบบประคับประคองแล้วไม่ดีขึ้น และสาเหตุของอาการนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องข้อไหล่ โดยการผ่าตัดด้วยการใช้กล้องส่องข้อไหล่ คือ การผ่าตัดโดยเจาะรูที่ไหล่ 3-4 รู รูละประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร เพื่อใส่เครื่องมือเข้าไป นั่นก็คือกล้องขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ที่จะนำภาพภายในข้อออกมาแสดงบนจอภาพ และแพทย์ทำการตกแต่ง ตัดเยื่อหุ้มข้อ ด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง หรือเครื่องมือพิเศษ

ข้อดีการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อไหล่ ทำให้สามารถเห็นพยาธิสภาพในข้อได้อย่างชัดเจนและสามารถแก้ไขพยาธิสภาพได้ดี แผลมีขนาดเล็ก เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเจ็บน้อยกว่า สามารถทำกายภาพได้เร็วขึ้นช่วยให้ฟื้นตัวเร็วและช่วยลดระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล

อาการข้อไหล่ติด สามารถรักษาได้ หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการใช่ช่วงแรก ๆ ก็สามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขมากขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการยกไหล่ การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร หรือการใส่เสื้อผ้าด้วยตัวเอง เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจน หากท่านกำลังมีภาวะข้อไหล่ติด มีความกังวลใจ แนะนำว่าควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้วินิจฉัยหาสาเหตุและหาแนวทางรักษา ทางศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน มีความพร้อมเป็นอย่างมากมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับและคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธน : https://www.nakornthon.com/article/detail/ข้อไหล่ติดในผู้สูงอายุ-ปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
 

กระทู้เพิ่มเติมหมวดหมู่เดียวกัน

กลับ
บน ล่าง